ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.สั่งให้ข้าวถุงที่มีสารเมทิลโบรไมด์สูงกว่าค่ามาตร ฐานโคเด็กซ์หยุดจำหน่าย ส่ง อย.เก็บตัวอย่างมาตรวจซ้ำเพื่อความปลอดภัย เดินหน้าบังคับข้าวสารบรรจุถุงต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพีก่อน 1 ม.ค. 2557 อย. ชง "หมอประดิษฐ" ออกประกาศ สธ. คุมสารรมข้าว 3 ตัว ขณะที่ "นายกฯ ปู" วอนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประสาน สธ.ตรวจสอบข้าวถุงไทยให้ชัดก่อนให้ข่าวสื่อ ลั่นภาครัฐพร้อมให้ตรวจสอบ ขอความเห็นใจสื่ออย่าถามคำถามเดิม ๆ ส่วน "นพ.วรงค์" บุกทำเนียบ ยื่นหลักฐานลายเซ็น "มาดามกง" พร้อม สาธิตวิธีล้อมกรอบข้าว แนะ รัฐบาลควรมีความจริงใจในการแก้ปัญหานี้ ด้าน "สุทธิพงษ์" ชมขั้นตอนการผลิตข้าวตราฉัตร ก่อนขอขมาและขออโหสิกรรม

จากกรณีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีปัญหาการทุจริต จนลามมาเป็นเรื่องมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในข้าวกลายเป็นประเด็นทางการ เมืองตอบโต้กันไปมาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตามที่เสนอข่าวให้ทราบอย่างต่อเนื่องนั้น

"ปู" ยันไม่ได้ปิดกั้นตรวจสอบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตรวจสอบพบข้าวถุงหลายยี่ห้อมีสารปนเปื้อนไม่ได้มาตรฐานว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นสำหรับการที่สมาคมจะช่วยตรวจสอบ แต่ในส่วนของรัฐบาลมีมาตรฐานของกระทรวงสาธารณ สุขอยู่แล้ว จึงอยากขอความกรุณาให้ประสานงานกัน เราไม่อยากให้ต่างคนต่างออกไป จนทำให้เกิดความกังวลกับพี่น้องประชาชน รัฐบาลพร้อมลงไปในพื้นที่ทันทีเพื่อตรวจสอบให้เกิดความกระจ่าง เนื่องจากวันนี้มีข้อมูลออกมาหลากหลาย หลายสมาคมออกมาวางมาตรฐานแล้วแต่จะตรวจสอบกัน ทำให้ลำบากและเกิดความสับสนได้ จึงให้กระทรวงสาธารณสุขไปพูดคุยกับทางสมาคม ขณะเดียวกันได้ย้ำกับกระทรวงสาธารณสุขไปว่าขอให้ชี้แจงประชาชนในเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ติดใจที่ไหนพร้อมแจง

ส่วนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกไปจีนนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องขอความกรุณาว่าอย่าพูดเป็นภาพรวมเลย เพราะถ้าพูดเป็นภาพรวมจะทำให้เสียหายทั้งระบบ เพราะคนจะมองว่าเป็นข้าวทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงกระทบความเชื่อมั่นในเรื่องข้าวที่มีคุณภาพดีอยู่แล้วเท่านั้น แต่กระทบทั้งเรื่องรายได้ของชาวนา และการค้า ขายข้าวด้วย ดังนั้นต้องขอความร่วมมือว่าถ้าติดใจตรงไหน ขอให้บอก เราพร้อมเข้าไปชี้แจงและตรวจสอบ ขอให้ตรวจสอบกันก่อนแล้วค่อยออกมาพูด และชี้แจงกับประชาชนเพื่อให้เกิดความชัดเจนดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะทำให้ทุกคนตกใจ เพราะเรารับประทานข้าวเป็นอาหารหลักอยู่แล้ว

วอนสื่ออย่าถามให้คนตกใจ

เมื่อถามว่าตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มสงสัยในเรื่องมาตรการการตรวจสอบ เพราะข้าวที่มูลนิธิฯนำมาตรวจสอบเป็นข้าวที่ขายอยู่ในท้องตลาด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายินดีให้ตรวจสอบ เอาข้าวมาแล้วมาเปิดตรวจสอบพร้อมกันได้เลยต่อหน้าสาธารณชน ถ้าตรวจสอบแล้วเจอ ก็ต้องไล่ไปดูที่กระบวนการว่าข้าวนั้น ๆ อยู่พื้นที่ตรงไหน แต่ไม่ใช่ว่าถ้าตรวจสอบแล้วเจอความผิดปกติ จะหมายความว่าข้าวทั้งประเทศไทยใช้ไม่ได้ เมื่อถามว่าวันนี้จะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนตกใจไปมากกว่านี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยน้ำเสียงค่อนข้างฉุนเฉียวว่า ก็ต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ถ้ายังถามคำถามนี้อยู่ตลอดเวลา มันก็ไม่ไปไหน ต้องขอความเห็นใจจริง ๆ วันนี้แทนที่เราจะเดินไปข้างหน้า เราก็มาคุยกันแต่ประเด็นตรงนี้ ต้องขอความกรุณาจริง ๆ

ครม.สัญจรจะดูข้าวตราฉัตร

เมื่อถามว่าสรุปแล้วเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในข้าวถือว่าตรงกันหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตรงกันตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานอยู่แล้ว แต่สำหรับของสมาคมก็คงต้องให้กระทรวงไปดูในรายละเอียดต่อไป ส่วนการลงพื้นที่ประชุม ครม.นอกสถานที่ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาในวันที่ 18-19 ก.ค. นี้ ซึ่งจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานข้าวตราฉัตรด้วยนั้น เนื่องจากอยากไปสำรวจด้วยตา เพื่อให้เห็นในหลายมิติ และอยากไปรับฟังจากผู้ประกอบการด้วยในทุกมุมมอง วันนี้เราอาจจะฟังจากจุดที่ตรวจปลายทาง และไปมองว่าเป็นปัญหาทั้งกระบวนการ เราอยากให้โอกาสกับทุก ๆ คนได้พูดและให้ข้อมูลอย่างเต็มที่

ยื่นหลักฐานมาดามกง

ที่ทำเนียบรัฐบาล ส.ส.พรรคประชาธิ ปัตย์นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส. พิษณุโลก พร้อมด้วยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี นำเอกสารขั้นตอนที่เอื้อให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว พร้อมด้วยหลักฐานลายเซ็นของ "มาดามกง" ที่เซ็นชื่อในใบค้าข้าว เป็นภาษาจีน มายื่นเอกสาร ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมถึงทีมโฆษกรัฐบาลตามที่ทีมโฆษกรัฐบาลเรียกร้องมา โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเอกสาร สาธิตกลโกงหยอดข้าวลงหลุม

จากนั้น นพ.วรงค์ ได้สาธิตวิธีการหย่อนข้าวลงหลุม โดยมีอุปกรณ์จำลองมาสาธิตวิธีหยอดข้าวลงหลุม พร้อมกับนำคลิปวิดีโอ จากเหตุการณ์จริง มาเปิดให้ผู้สื่อข่าวชม ซึ่งคลิปดังกล่าวสามารถดูได้ผ่านยูทูบชื่อคลิปว่า "โกงจำนำข้าว 5" นพ.วรงค์ กล่าวว่า การมาหยอดข้าวลงหลุมในครั้งนี้ ตนเคยมาในวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ทางรัฐบาลติดภารกิจ จึงได้มาสาธิตการหยอดข้าวอีกครั้งในวันเดียว กันนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ตนและพวกจะไม่มาที่ทำเนียบอีก และอยากฝากว่า หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหานี้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเวลาเปิดประมูลข้าว คนนอกไม่สามารถรู้ปัญหาดังกล่าวได้

หยุดขายข้าวถุงปนเปื้อน

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจข้าวถุง 46 ยี่ห้อ ในจำนวนนี้ 12 ยี่ห้อไร้สารตกค้าง อีก 34 ยี่ห้อพบสารเมทิลโบรไมด์ ระหว่าง 0.9-67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 1 ยี่ห้อพบการปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) ว่า ข้าวสารถุง 1 ยี่ห้อที่ตรวจพบ การปนเปื้อนสูงกว่าค่ามาตรฐานโคเด็กซ์นั้นเป็นเพียง 1 ตัวอย่างใน 100 กว่าตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนได้สั่งให้หยุดจำหน่ายไปก่อนแล้วเข้าไปตรวจซ้ำอีกครั้ง และในวันเดียวกันนี้ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงไปดูโรงงานบรรจุข้าวและเก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ซ้ำ ทั้งนี้ได้สั่งการให้ อย.ตรวจข้าวสัญจรไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มวันที่ 18 ก.ค. นี้ ซึ่งจะมี ครม.สัญจร ทั้งนี้อยากเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสื่อมวลชนช่วยชี้เป้าด้วยว่าสงสัยข้าวยี่ห้อไหนอย่างไรเพื่อไปเก็บตัวอย่างด้วยกัน

ข้าวถุงได้มาตรฐาน 1 ม.ค. 57

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาวจะกำหนดข้าวสารบรรจุถุงต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพีทุกถุง โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2557 จากเดิมกำหนดให้เข้าสู่มาตรฐานจีเอ็มพีในปี 2558 แบบสมัครใจ ดังนั้นระยะเวลาที่เหลืออีก 5 เดือนจะเร่งกวดขันให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว ส่วนความไม่สบายใจในการใช้สารเมทิลโบรไมด์นั้นจะยกเลิกการใช้ภายใน 2 ปี เพราะสารดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียต่อชั้นบรรยากาศ ยืนยันว่าไม่มีการปิดบังข้อมูล สิ่งที่ต้องพูดให้ชัดเจนคืออย่าเล่นการเมืองมากเกินไป แล้วเอาการเมืองมาทำลายประเทศ มาทำลายผลประโยชน์ของชาวนา ขอให้พูดเรื่องสุขภาพประชาชนอย่างแท้จริง ขณะนี้เรื่องการส่งออกเสียหายมามากจากการสร้างภาพว่าข้าวของประเทศไทยมีสารเคมีปนเปื้อน อย่าคิดว่าต่างประเทศจะไม่ลงข่าวพวกนี้ ถ้าลงเมื่อไหร่ก็มีปัญหาต่อประเทศไทยเอง เพราะฉะนั้นอย่าทำร้ายประเทศ

ชงออกประกาศคุมสารรมข้าว

ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอาหาร ว่า ที่ประชุมมีมติเสนอให้ นพ.ประดิษฐ รมว.สาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) โดยเพิ่มสาร 3 ชนิดและปริมาณสารตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในข้าว ได้แก่ ไฮโดรเจนฟอสไฟด์ ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร (เอ็มอาร์แอล) เมทิลโบรไมด์ 0.01 เอ็มอาร์แอล (หรือสารโบรไมด์ อิออน ไม่เกิน 50 มก.ต่อ กก.) และ ฟลูออร์ไรด์ 0.1 เอ็มอาร์แอล โดยจะเร่งจัดทำประกาศและเสนอให้ นพ.ประดิษฐ ลงนามในสัปดาห์นี้

"สารทั้ง 3 ชนิดเป็นแก๊สที่ใช้รมข้าว มีผลต่อคนที่รมข้าวมากกว่า ส่วนสารตกค้างในข้าวมีปริมาณน้อยมากและการหุงข้าวทำให้สารระเหยไปเกือบหมด" ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ จะเชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 10 จังหวัด ที่มีโรงบรรจุข้าว มาทำความเข้าใจในการดูแลให้โรงบรรจุข้าวถุงเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพี

เผยปนเปื้อนถึง 94 มก./กก.

ภญ.ศรีนวล กล่าวด้วยว่า ล่าสุดได้รับรายงานผลตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับข้าวถุงยี่ห้อหนึ่ง ที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่าพบสารเมทิลโบรไมด์ 67.4 มก.ต่อ กก. นั้น ผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารเมทิลโบรไมด์ในข้าวยี่ห้อดังกล่าว 94 มก.ต่อ กก. อย่างไรก็ตาม อย.ร่วมกับห้องปฏิบัติการของเอกชนได้ทดลองนำข้าวสารที่มีสารเมทิลโบรไมด์ไปซาวน้ำ 1 ครั้ง แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์พบว่า เมทิลโบรไมด์ ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อนำไปหุงด้วยความร้อน สารดังกล่าวหายไปถึง 86% เหลือเพียง 14% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก

"สุทธิพงศ์"ขอขมาข้าวตราฉัตร

ขณะเดียวกัน นายสุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ หรือเช็ค พิธีกรผู้ดำเนินรายการ "คนค้นฅน" พร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตข้าวที่บริษัทข้าวซีพี จำกัด โรงงานข้าวนครหลวง ตราฉัตร อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มการค้าระหว่างประเทศบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมผู้บริหาร นำชมขั้นตอนการผลิตข้าวอย่างละเอียดซึ่งได้รับรองมาตรฐานโลกเป็นเวลานานกว่า 1 ชม. จากนั้น นายสุทธิพงศ์ ได้กล่าวขอขมา และขออโหสิกรรม พร้อมกับแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ นายสุเมธ กล่าวว่า เข้าใจนายสุทธิพงศ์ และขอบคุณสื่อมวลชนที่มาร่วมพิสูจน์คุณภาพข้าวตราฉัตร พร้อมกับจะถอนฟ้องนายสุทธิพงศ์อย่างเป็นทางการต่อไป

ใช้ไนโตรเจนแทนสารเคมี

ที่บริษัทนครหลวงค้าข้าว จ.สมุทร ปราการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัว "ระบบกำจัดมอดและด้วงงวงข้าวโดยใช้ก๊าซไนโตรเจน" โดยมี นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานแถลงข่าวและนำชมระบบต้นแบบที่ทดลองใช้จริง โดย นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า ระบบกำจัดมอดและด้วงงวงข้าวโดยใช้ก๊าซไนโตรเจน มีการพัฒนาตัวเครื่องมาแล้ว 2 ปี ซึ่งได้ผลดีมีบริษัทนครหลวงค้าข้าวเป็นผู้นำร่องทดสอบการใช้งานจริง และกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ร่วมวิเคราะห์ประสิทธิภาพ ทั้งนี้การใช้ก๊าซไนโตรเจน ในการรมข้าวถือว่ามีความปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ 100% สามารถใช้เป็นทางเลือกทดแทนเมทิลโบรไมด์ และก๊าซฟอสฟีนที่โรงสีนิยมใช้ในปัจจุบัน

เร็วกว่า ดีกว่า และถูกกว่า

นายสัมฤทธิ์ แซ่เจียง กรรมการ บริษัท สยามวอเตอร์เฟรม จำกัด ผู้พัฒนาระบบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการกำจัดมอดและด้วงในข้าว มี 3 วิธี คือ การใช้สารเคมีเมทิลโบรไมด์ ที่กำลังจะห้ามใช้ภายในปี 2558 การรมควันด้วยก๊าซฟอส ฟีน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเพราะต้นทุนต่ำและใช้เวลาเร็วกว่าเดิม และการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกษตรอินทรีย์ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่มีราคาสูง และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดมอดและด้วงวิธีนี้เป็นทางเลือกใหม่ กำจัดได้ทั้งไข่และตัวเต็มวัยภายใน 7 วัน เร็วกว่าการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้เวลา 14-15 วัน และถูกกว่า 10 เท่า

มอด ด้วง ดักแด้ ตายใน 7 วัน

ทั้งนี้ระบบดังกล่าว มีแนวคิดว่าสิ่งมีชีวิตต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ จึงออก แบบระบบให้เป็นห้องปิด มีปริมาณก๊าซออกซิเจนต่ำกว่า 0.5% โดยใช้เทคโนโลยีดูดอากาศภายในห้องมาผ่านระบบดูดซับก๊าซออกซิเจนออกไป เหลือเพียงก๊าซไนโตรเจน 99.5% ส่งผลให้มอดและด้วงตัวเต็มวัยตายภายใน 1-2 วัน ส่วนระยะดักแด้จะตายใน 7 วัน เทคโนโลยีดังกล่าวปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมในฝั่งประเทศยุโรป และตะวันออกกลาง โดยใช้กับการส่งออกผลไม้.

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--