ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์

 

ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสูบบารากู่ มีการเข้าใจผิดว่าเป็นการสูบควันผลไม้ ซึ่งหอมน่ารับประทาน แต่จากที่กรมควบคุมโรคส่งตัวอย่างผลไม้แห้งในบารากู่ไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบทุกตัวอย่างมีส่วนผสมของสารนิโคติน สารนี้หากเสพในขนาดต่ำๆ จะกระตุ้นระบบประสาททำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุข แต่ถ้าเสพบ่อยๆ จะต้องเพิ่มขนาด เนื่องจากนิโคตินเป็นสารเสพติด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่านิโคตินสามารถเสพติดได้ง่ายเท่ากับเฮโรอีนและยังพบว่าผู้ที่เสพนิโคตินมีอันตรายเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ สูงกว่าผู้ที่ไม่เสพนิโคตินจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกกล่าวถึงพิษภัยของการบริโภคยาสูบผ่านน้ำดังนี้ 1.การใช้เครื่องสูบผ่านน้ำ (Water pipe) เพื่อสูบยาสูบจะเป็นการนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง และเป็นอันตรายต่อผู้อื่นที่สัมผัสควันที่ปล่อยออกมา 2.แม้ว่าควันจะผ่านน้ำลงไปแล้วก็ตาม ยังคงมีสารพิษในระดับสูงอยู่ รวมทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนักและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ความร้อนในการเผาไหม้ จะทำให้เกิดสารพิษเช่นกัน 3.หญิงตั้งครรภ์หากสูบหรือสัมผัสควัน ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ 4.การสูบโดยใช้เครื่องสูบ (Water pipe) โดยใช้ท่อดูดร่วมกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อ เช่น วัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น และมีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปากด้วย

เนื่องจากการสูบบารากู่ มีรสหวานกลิ่นหอม จึงยั่วยวนใจวัยรุ่นให้อยากลอง และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ การสูบบารากู่นี้ จะใช้เวลาในการสูด-พ่นควัน ประมาณ 20-80 นาที ดังนั้น ในการสูบแต่ละครั้ง ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันภัยจากบุหรี่ตระหนัก ถึงพิษภัยของบารากู่ แต่ไม่สามารถเอาผิดการสูบบารากู่ได้เหมือนการสูบบุหรี่ เนื่องจากตัวยาไม่มีลักษณะเป็นยาเส้น รวมทั้งเยาวชนหลงผิดคิดว่าการสูบบารากู่เป็นการสูบผลไม้ ไม่ใช่สูบบุหรี่และไม่ทราบว่ามีการผสมสารเสพติด คือ นิโคติน ที่จะทำให้อยากสูบในครั้งต่อๆ ไป

ที่มา: http://www.naewna.com