ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินคริสโซไทล์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการศึกษาผลกระทบของแร่ดังกล่าว ได้ข้อสรุป ว่า ประเทศไทยใช้แร่ใยหินหลายชนิด ขณะนี้ได้ห้ามใช้ไปแล้ว 4ชนิด

ซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ยังเหลืออีก 1ตัว คือคริสโซไทล์(Chrysotile) ที่ต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในบริบทของประเทศไทย จากที่ประชุมได้พิจารณาพบว่าหลักฐานที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ จำนวนผู้ป่วยในประเทศที่มีการวินิจฉัยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมีน้อยมาก ได้นำเสนอเพียง 12ราย ในจำนวนนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินเพียง 5ราย เป็นเพียงรายงานผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นทั้งเรื่องการตรวจวินิจฉัย การคัดกรองและการเฝ้าระวังโรค ไม่เฉพาะโรคจากแร่ใยหินเท่านั้นแต่ยังรวมถึงโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพอื่นๆด้วย ให้ข้อมูลเป็นที่น่าเชื่อถือ ครบถ้วน ในการดูแลสุขภาพของประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ที่ประชุมจึงมุ่งไปที่หลักฐานการวิจัยอ้างอิงจากต่างประเทศ

นายแพทย์ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า จากการรวบรวมเอกสารงานวิจัยจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคริสโซไทล์ของผู้เชี่ยวชาญได้ข้อสรุปว่าสารนี้จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับแอลกอฮอล์และบุหรี่ แต่เมื่อเทียบกับแร่ใยหินชนิดอื่นพบว่าเกิดได้น้อยกว่าตัวอื่นมาก โดยก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด(Mesothelioma)ได้ 1ต่อ 500และมะเร็งปอด 1ต่อ 50ของแร่ใยหินตัวอื่น ดังนั้นจึงอาจจะยังไม่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหินชนิดอื่นที่ถูกห้ามใช้ไปแล้วและยังมีหลายประเทศคัดค้านไม่ให้จัดในกลุ่มเดียวกัน ฤทธิ์การก่อมะเร็งของสารชนิดนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและเวลาการสัมผัส ซึ่งหากได้รับไม่เกิน 0.1ไฟเบอร์/ซีซี/ปี ก็จะไม่มีผลกระทบหรือมีน้อย

ทั้งนี้หลักฐานเชิงประจักษ์พบกว่าอันตรายเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ใยหิน หรือผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมบางแห่งที่มีแร่ใยหินคริสโซไทล์ฟุ้งกระจายมากเกินค่ามาตรฐานในระยะเวลาที่นานพอ ส่วนในชุมชนทั่วไปยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีปัญหา แต่กระทรวงจะติดตามหลักฐานอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้จะให้เลขานุการจัดทำรายงานผลสรุป และแจ้งเวียนให้คณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องตามมติ หากไม่มีการแก้ไข ก็จะนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นต่อไปภายในปลายเดือนสิงหาคม 2556

“จุดยืนของคณะกรรมการชุดนี้เน้นเรื่องความโปร่งใสของกรรมการแต่ละคน และสามารถตรวจสอบได้ว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ โดยกรรมการและประธานร่วมกันลงนามว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการพิจารณา และเปิดให้รับฟังการพิจารณาหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างโปร่งใสตามนโยบายธรรมาภิบาลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรี และจะดำเนินการตามหน้าที่ ยึดตามหลักการความถูกต้องทางวิชาการที่มีหลักฐานระบุชัดเจน เพื่อผลประโยชน์ความปลอดภัยของประชาชนและประเทศ และไม่ได้ทำครั้งเดียวจบจะต้องดำเนินการต่อเนื่องระยะยาว หากมีข้อมูลใหม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด ซึ่งจะทำให้นโยบายของประเทศสอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริง”นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว

ที่มา: http://www.thanonline.com