ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลแพ่งพิพากษา "แม่ชาวญี่ปุ่น" ชนะฟ้อง รพ.กรุงเทพ ผ่าคลอดประมาทจนเกิดแผลไฟไหม้ยาว 30 ซม.จากการใช้เครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าช็อต ศาลสั่งโรงพยาบาล-หมอผ่าตัด ร่วมกันชดใช้กว่า 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% เจ้าตัวระบุหากเกิดเหตุให้จดบันทึกเพื่อใช้สู้ชั้นศาล

เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีผู้บริโภคหมายหมายเลขดำ ผล.1461/2555 ที่ น.ส.มิคาโยะ อิโตะ อายุ 42 ปี ชาวญี่ปุ่น เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ แพทย์สูตินรีเวช และบริษัท โควีเดียน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการบริการ และเรียกค่าเสียหายจำนวน 82,638,252.90 บาท

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 โจทย์ตั้งครรภ์และไปทำคลอดที่โรงพยาบาลกรุงเทพ มีจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคลอดบุตร เริ่มการผ่าตัดเมื่อเวลา 07.00 น. แพทย์ทำการยบ็อกหลัง ก่อนผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำตัวเด็กออกจากครรภ์ ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดอยู่นั้น โจทย์ได้กลิ่นไหม้อย่างรุนแรง พร้อมกับได้ยินเสียงของจำเลยที่ 2 ร้องออกมาด้วยน้ำเสียงตกใจว่า "ปิดแผลก่อนๆ" ขณะนั้นโจทก์ไม่ทราบว่าเกิดเหตุผิดปกติอะไร เนื่องจากเกิดอาการชาอวัยวะท่อนล่าง กระทั่งทรายภายหลังว่าเกิดเหตุไฟไหม้ที่บริเวณข้างลำตัวด้านขวาอย่างรุนแรง เนื่องจากขณะผ่าตัดเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าที่ใช้สำหรับห้ามเลือดจากแผลผ่าตัดเกิดช็อต ขัดข้องทำให้ไฟลุกลามเป็นแผลที่ข้างลำตัว ผิวหนังกำพร้า หนังแท้ ต่อมเหงื่อ และเซลล์ประสาทถูกไฟไหม้ ศัพท์ทางการแพทย์ เรียกว่า "DEEP BURN" เป็นแผลไฟไหม้ระดับ 3 รอยไหม้กว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร จากบริเวณราวนมด้านขวาลงไปถึงต้นขาขวา ซึ่งเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ต้องไปรับทำความสะอาดแผลตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 17 มีนาคม 2555 รวม 21 วัน การทำความสะอาดแผลต้องถูกดมยา หรือฉีดยาเพื่อให้หมดสติทุกครั้ง ส่งผลกระทบต่อความจำของโจทก์ ต่อมาวันที่ 31 มีนาคมา 2555 แพทย์ทำการผ่าตัดเข้าผิวหนังที่โคนขา กว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร จำนวน 5 แผ่น ไปปิดปากแผลบริเวณลำตัวทีเกิดจากไฟไหม้ เนื่องจากผิวหนังบริเวณดังกล่าวตายไปแล้ว เมื่อเห็นบาดแผลทั้งหมดแล้วทำให้โจทก์มีอาการซึมเศร้า จิตใจย่ำแย่ ต้องปรึกษาจิตแพทย์ โดยไม่ทราบว่าต้องใช้การรักษาไปอีกนานเพียงใด บาดแผลดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถสวมใส่ชุดชั้นในได้ตามปกติ เพราะเมื่อถูกรัดบริเวณแผลจะทำให้เจ็บปวดจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพอนามัย และจิตใจของโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชอบ ชดเชยค่าขาดรายได้จากการทำงานเป็นเวลา 45 วัน เป็นเงิน 119,999.70 บาท ค่าผลกระทบต่อเงินเดือนและโบนัส จำนวน 2,364,253.20 บาท ค่าเบี้ยดูบุตร จำนวน 90,000 บาท ค่าเดินทางจากบ้านพักที่ จ.ระยอง มารักษาตัวที่ กทม. รวม 64,000 บาท ค่ารักษาในอนาคต เพื่อทำศัลยกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 30 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อรางกาย สุขภาพ อนามัย และจิตใจที่ทำให้โจทก์ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จำนวน 50 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 82,638,252.90 บาท เหตุเกิดที่ รพ.กรุงเทพ เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย 7 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.มิคาโยะ โจทก์เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมด้วย ด.ต.ณรงค์ เหล่าสิงห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดชลบุรี สามี และนายกิตติพันธ์ ดวงภักดี ทนายความ

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-2 แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมีหน้าที่ต้องควบคุมและตรวจสอบการผ่าตัดทำคลอด แต่จำเลยประมาทไม่ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ ทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตจนเกิดแผลไหม้ที่บริเวณลำตัวของโจทก์ จึงให้จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายโจทก์ 10,273.000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากนี้ น.ส.มิคาโยะยังแจ้งความในคดีอาญากับ รพ.กรุงเทพ และ นพ.ธีระ ในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า

ด้าน น.ส.มิคาโยะ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ ยังไม่เคยได้รับคำขอโทษจากฝ่าย รพ.กรุงเทพ และแพทย์ ฝ่ายจำเลยก็ไม่เคยใส่ใจดูแลใดๆ เลย ทั้งที่ตนและสามีก็ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดราคาสูงตามที่โรงพยาบาลเรียกชำระ กระทั่งวันนี้ศาลได้มีคำพิพากษาว่าทางโรงพยาบาลและคณะแพทย์จะต้องร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากการที่กระทำการประมาท ปัจจุบันยังคงต้องรักษาบาดแผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่าจะมีคำพิพากษาในวันนี้ต้องใช้เวลานานถึงครึ่งปี ฉะนั้นใครที่พบเจอเหตุการณ์อย่างตน ขอให้จดบันทึกในทุกๆ วัน รวมทั้งการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานด้วย จะช่วยให้สามารถต่อสู้คดีในชั้นศาลได้

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--