ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรณีข่าวข้าวสารบรรจุหีบห่อปนเปื้อนสารรมข้าวกำจัดแมลง นับเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดีและเห็นเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การดำเนินการสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยนี้ ในการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ประกอบการในฐานะผู้ผลิตกรณีพบสินค้าไม่ปลอดภัย แต่ในกรณีที่เป็นสินค้าในกลุ่มภาคการเกษตร อย่างผักผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงข้าวสารที่เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา อย.เป็นเพียงแค่หน่วยงานปลายน้ำเท่านั้น ไม่สามารถเข้าควบคุมการผลิตที่แก้ไขปัญหายังต้นเหตุได้  ซึ่งเรื่องนี้ต้องจัดการทั้งกระบวนการด้วยการอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เริ่มตั้งแต่การควบคุมเพาะปลูกของเกษตรกร โดยเฉพาะการใช้สารเคมี การจัดเก็บของผู้ประกอบการ รวมถึงการจำหน่ายบนท้องตลาดของพ่อค้าแม่ค้า

ที่ผ่านมาในปี 2551 ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ" เพื่อจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ด้านอาหารของประเทศ โดยมีการระดมสมองกำกับทิศทาง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมี อย.และสำนักงานมาตรฐานสินค้าด้านการเกษตร (มกอช.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการร่วม

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กรอบยุทธศาสตร์อาหารที่จัดทำขึ้น ครอบคลุมการดูแลผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่ทั้งหมด มีด้วยกัน 4 ด้าน คือ 1.ความมั่นคงทางอาหาร ครอบคลุมตั้งแต่การถือครองที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารการเกษตร ที่รวมไปถึงความสมดุลของการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา

2.คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ถือเป็นภารกิจโดยตรงของกระทรวงสาธารณสุขในการควบคุมเพื่อให้อาหารปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน 3.อาหารศึกษา เน้นการพัฒนาผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ และการให้ความรู้ผู้บริโภค และ 4.ระบบการบริหารจัดการทั้งหมด โดยเฉพาะการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน

ตามกรอบยุทธศาสตร์นี้ บทบาทของ อย. จะเน้นที่การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ที่ผ่านมามีการใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายอย่างเข้มงวด หากผู้ประกอบการรายใดทำอะไรที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ขณะเดียวกันยังใช้มาตรการส่งเสริมการผลิตควบคู่ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการ ผลักดันอุตสาหกรรม

อาหารให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ไม่เพียงแต่สามารถขายในประเทศ แต่ส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อแข่งขันในระดับโลก            นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ให้ความรู้เพื่อเป็นอาวุธทางปัญญาในการป้องกันตนเอง เลือกกินเลือกใช้อาหารที่ปลอดภัย ทั้งยังดึงผู้บริโภคเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ร่วมทำหน้าที่เฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยในอาหารที่เป็นบทบาทสำคัญ

ภญ.ศรีนวล  กล่าวว่า ก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ทุกหน่วยงานต่างทำงานกันอย่างเต็มที่ เพียงแต่อาจทำกันคนละส่วน ก้าวคนละจังหวะไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่มีแรงผลักดันเพียงพอ เพื่อส่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนไปถึงเป้าหมาย แต่หลังจากมีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ทำให้มีการพูดคุยร่วมกันของหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาด้านอาหารสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปัญหาสารยาฆ่าแมลงตกค้างในผักสด ผลไม้ เพียงแค่ อย.หน่วยงานเดียว คงไม่สามารถแก้ปัญหาจนสัมฤทธิผลตามที่คาดหวังไว้ได้ เพราะเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตอาหารยังใช้ยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูกอยู่ ซ้ำยังขาดการกำกับดูแลที่ดี แต่หลังจากนี้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติจะเป็นผู้ประสาน กำหนดกรอบทำงาน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานมุ่งเดินหน้าแก้ไขไปในทางเดียวกัน

"ขณะนี้พริกเป็นโครงการนำร่อง บ้านเรามีการใช้พริกเยอะมาก เป็นส่วนประกอบอาหารสารพัด แม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังมีพริกในซองเครื่องปรุงประกอบ นอกจากนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยเองยังเป็นแหล่งปลูกพริกจำนวนมาก แต่หลังจากมีกระแสสนับสนุนการปลูกพืชพลังงานทดแทน พืชเศรษฐกิจ อย่าง ต้นปาล์ม ยางพารา เป็นต้น ทำให้พื้นที่ปลูกพริกของประเทศลดลง ไม่พอต่อความต้องการ แต่ละปีจึงมีการสั่งนำเข้าพริกจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พริกจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหาร" รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ส่วน พริกยังมีปัญหาปนเปื้อน ไม่ว่าพริกสดที่ตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้างค่อนข้างมาก หรือแม้แต่พริกแห้งที่พบสารอัลฟ่าท็อกซินก่อมะเร็ง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก การทำเกษตรอินทรีย์ การตรวจ ความร่วมมือผู้ประกอบการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดโครงการ          สำหรับสถานการณ์ปนเปื้อนในอาหารนั้นภญ.ศรีนวล กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีต ภาพรวมของประเทศดีขึ้นมองในมุมผู้ประกอบการที่มีการพัฒนากระบวนการผลิต สถานที่เพื่อให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ทำให้มีสุขลักษณะดีขึ้น เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอาหารลดลง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเริ่มมีการใช้สารเคมีในอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป ซึ่ง อย.จะมีอำนาจในการเข้าจัดการตั้งแต่ต้นทาง ต่างจากสินค้าการเกษตร

"ในปี 2555 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ จำนวน 2,000 ตัวอย่าง เพื่อสุ่มตรวจสารตกค้างยาฆ่าแมลง พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงร้อยละ 3.5 ทั้งในกลุ่มเพาะปลูกในประเทศและนำเข้า โดยในกรณีของผักผลไม้ที่ปลูกในประเทศ ทาง อย.จะส่งข้อมูลไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการต่อ แต่หากเป็นกรณีการนำเข้าจากต่างประเทศ ทาง อย.จะมีอำนาจในการจัดการได้ ซึ่งหากตรวจพบจะนำเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง กักกันสินค้าเพื่อตรวจวิเคราะห์ก่อน รวมถึงการตีกลับสินค้า"         ส่วนสถานการณ์อาหารอื่นๆ สารปนเปื้อนที่น่าเป็นห่วงและพบมากที่สุด คือการใช้สีสังเคราะห์ในอาหาร ปีที่ผ่านมา อย.ได้จัดเก็บตัวอย่างอาหาร 560 ตัวอย่าง เพื่อตรวจดูการใช้สีสังเคราะห์ พบการปนเปื้อนถึงร้อยละ 11 ซึ่งกุ้งแห้งเป็นอาหารที่พบการใช้สีสังเคราะห์ผสมมากที่สุด เพื่อให้กุ้งมีสีสันสวยงาม และดูเหมือนปัญหานี้ไม่ลดลงเลย การตรวจหาสารเร่งเนื้อแดง มีการเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจ 209 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนร้อยละ 10.5 การปนเปื้อนสารอัลฟาท็อกซิน เก็บตรวจ 500 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนร้อยละ 7.6 และสารกันรา ที่มักใช้ในหน่อไม้ดองและผลไม้ดอง พบการปนเปื้อนร้อยละ 5 ซึ่งสถานการณ์การปนเปื้อนลดลงไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นผู้กำหนดทิศทาง

ภญ.ศรีนวล กล่าวต่อว่า ในเรื่องของอาหารปลอดภัยแนวทางการดำเนินงานของ อย.จากนี้ จะมีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและดูแลประชาชนให้ดียิ่ง แม้ว่า อย.จะมีปัญหาในเรื่องของบุคลากรและงบประมาณ โดย อย.มีบุคลากรเพียง 600 คน แต่ต้องทำหน้าที่ดูแลประชากรทั่วประเทศเกือบ 70 ล้านคน

การที่มีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติที่เชื่อมการทำงานของทุกหน่วยงาน และกำหนดทิศทางการทำงาน เริ่มสกัดปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่เพียงแต่ทำให้ อย.ทำงานเหนื่อยน้อยลง แต่ยังทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว พร้อมกันนี้ต้องเน้นการให้ความรู้ประชาชนในการรู้จักเลือกบริโภค ซึ่งถือเป็นอาวุธในการป้องกันตนเองจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง