ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นของแรงงานเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคม 6 กรณี โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดสมุทรปราการ สระบุรี ชลบุรี และระยอง จำนวน 2,100 คน ในช่วงเดือนมิถุนายนธันวาคม 2555 ว่าโดยภาพรวมผู้ประกันตนเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 เท่ากับนายจ้างและลูกจ้าง จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.75 และอยากให้สิทธิในด้านต่างๆ เกิดขึ้นทันทีที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย รวมทั้งเพิ่มสิทธิกลไกคุ้มครอง มีการให้ความรู้แก่ผู้ประกันตนแบบใหม่ รวมทั้งกรณีพิเศษ เช่น กรณีพิพาทหรือหยุดงานเพราะมีเหตุวิกฤตให้คงสิทธิประกันสังคมไว้ และมีการแจ้งสิทธิประโยชน์ เช่น การคำนวณเงินชราภาพ เงินสะสมหรือดอกเบี้ยที่ประกาศแต่ละปี รวมทั้งอยากให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรอิสระ

น.ส.ธนพรกล่าวอีกว่า หากแยกเป็นรายสิทธิประโยชน์ อย่างกรณีการรักษาพยาบาลต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันกับระบบสุขภาพอื่นๆ และการทำฟันต้องไม่กำหนดเพดานและเงื่อนไขให้เป็นไปตามความจำเป็น ที่สำคัญบัตรรับรองสิทธิใบเดียวสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาของ สปส.ทุกแห่ง รวมทั้งเพิ่มเวลาการให้บริการที่สอดคล้องกับชีวิตแรงงาน ส่วนกรณีคลอดบุตรนั้น สปส.ควรจ่ายตามความจำเป็นและคงเงินการคลอดบุตรไว้ที่ 13,000 บาท กรณีสงเคราะห์บุตรให้เพิ่มวงเงินเป็น 3,000 บาทต่อเดือนจากปัจจุบันเดือนละ 400 บาทต่อคน นอกจากนี้ ขอให้เพิ่มอายุบุตรจากเดิมให้เงินสงเคราะห์บุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เพิ่มเป็น 12-18 ปี และต้องไม่จำกัดจำนวนบุตรที่รับสิทธิ เพราะปัจจุบันจำกัดบุตรเพียง 2 คนเท่านั้น สำหรับกรณีชราภาพ ต้องไม่มีเพดานการจ่ายเงินสมทบ เงื่อนไขการรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญเป็นสิทธิของผู้ประกันตน หากผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินชราภาพเสียชีวิตก็ให้ขยายผู้รับประโยชน์หรือเขียนพินัยกรรมให้ใครก็ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 สิงหาคม 2556