ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานคบช.เป็นตัวแทนแรงงานนอกระบบ, ตัวแทนบุคคลที่มีอายุเกิน 15 ปี ซึ่งสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ แต่เข้าถึงสิทธิการออมล่าช้าเพราะ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 ยังไม่มีการบังคับใช้ และแรงงานนอกระบบที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่เสียโอกาสในการสมัครสมาชิก กอช.รวมทั้งหมด 27 คน เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกอช. 

คบช.ขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้ผู้ถูกฟ้อง ดำเนินการรับสมัครสมาชิกกอช. โดยด่วนและคืนสิทธิแก่แรงงานนอกระบบที่เสียสิทธิสมัครเป็นสมาชิกอันเนื่องมาความล่าช้าในการดำเนินงานด้วย

ทั้งนี้ คำฟ้องของ คบช. ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ขณะที่นายสมชัย ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง รับมอบหมายจากนายนายกิตติรัตน์ ให้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ และทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติด้วย

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84(4) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการ “จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง” ดังนั้นเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้รัฐสภา ตรา พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2554 

พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้กอช.เปิดรับสมัครสมาชิกเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา กล่าวคือประมาณวันที่ 8 พ.ค. 2555ซึ่งคณะกรรมการกอช.ได้เตรียมยกร่างกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และการดำเนินงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้เสร็จสิ้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแล้ว และตามมาตรา 4 ของกฎหมายกอช.กำหนดให้ รมว.คลัง รักษาการตามกฎหมาย ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศรวมถึงแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่

การดำเนินการเพื่อออกกฎกระทรวงดังกล่าว เหลือเพียงรอการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของนายกิตติรัตน์เท่านั้น

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ มีเจตนารมย์คือจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทั่วถึง ดังนั้นเพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราที่ครอบคลุมของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึง จึงทำให้บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะต้องอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เนื่องจากไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินขณะที่อยู่ในวัยการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิต ตลอดจนเพื่อสร้างวินัยในการออมเงินขณะที่ยังอยู่ในวัยทำงาน

จึงสมควรจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับประโยชน์ในรูปบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ

ดังนั้น หลักการสำคัญของกฎหมายกอช. กล่าวคือ 1.เพื่อให้มีการสร้างวินัยและเสริมสร้างอุปนิสัยการออมขั้นพื้นฐานให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นจริง โดยเริ่มตั้งแต่ในวัยเยาวชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อการดำรงชีพในยามชรา ไม่พึ่งพารัฐแต่เพียงถ่ายเดียวเฉกเช่นเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

2.เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประชากรภาคแรงงานประมาณ 24 ล้านคน ให้ได้รับความคุ้มครองเพื่อชราภาพอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันความเสี่ยงของความยากจนในวัยสูงอายุ

3.เพื่อให้ประชาชนยึดหลักในการพึ่งพาตนเอง ตามสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักการเบื้องต้น ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 ฉบับได้แก่ กติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ กติการะหว่างว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยกำหนดให้ประชาชาติทั้งปวงมีสิทธิกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง กล่าวคือการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 ฉบับแล้ว ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 27 คน เป็นผู้เสียสิทธิและได้รับสิทธิจากการดำเนินการที่ล่าช้า โดยเป็นผลจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 คน จึงได้พยายามติดตามทวงถามให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวหลายครั้งหลายหน แต่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ก็เพิกเฉยและบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จนผู้ฟ้องทั้ง27 คน ในฐานะสมาชิกของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ทนายมีหนังสือบอกกล่าวถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ โดยผู้ถูกฟ้องได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่ก็ยังเพิกเฉยอีก

ผู้ฟ้องทั้ง 27 คน ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ได้ จึงจำเป็นต้องฟ้องคดีนี้

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องมีคำขอให้ศาล สั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ร่วมกันให้มีการออกกฎกระทรวงและประกาศต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการรับสมัครสมาชิกกองทุนกอช.โดยด่วน นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ดำเนินการใดๆอันเป็นการคืนสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิกของกอช. ให้แก่ผู้ฟ้องและแรงงานนอกระบบที่อายุมากกว่า 60 ปี และเสียโอกาสในการสมัครสมาชิกอันเนื่องจากความล่าช้าด้วย