ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาหอฯติวเข้มคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ลุยยก 2 แนะแท็กติกแก้ทางสหภาพยุโรปมัดมือชกผูกขาดตลาดยัดเยียดคนไทยกินยาแพงชั่วลูกหลานใน 3 ประเด็นข้อเรียกร้องสำคัญชี้ช่องใช้เกลือจิ้มเกลือหากถูกฟ้องร้องกรณีบุหรี่เหล้า ให้ยกเคสอียูเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯตอบโต้

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการประเด็นทางการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้เจรจากันในรอบแรกไปแล้วระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2556 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในไทย มีเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้หลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมยังมีความกังวลในเรื่องการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจส่งผลให้ยาในไทยที่มีบริษัทยาในอียูเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอาจมีราคาแพงขึ้นอีกใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก อียูได้เรียกร้อง การขอต่ออายุสิทธิบัตรหากเกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรในไทย จากเดิมมีขอบเขตความคุ้มครองยาวนานถึง 20 ปี อียูอาจขอขยายเวลาออกไปอีก 1-5 ปี ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลาที่จะขายยาในราคาแพงย่อมนานขึ้นไปอีกหลายปีเพื่อชดเชยความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งผลลัพธ์คือจะทำให้ยาสามัญ (generic medicines) ราคาถูกกว่าหลายสิบเท่าที่มีตัวยาเดียว กันที่ผลิตแล้วและมีขายในต่างประเทศแล้วไม่สามารถนำมาขายในไทยได้ จนกว่าอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรจะหมดไป

ประเด็นที่ 2 การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา (data exclusivity) ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทยาต้องใช้ในการขึ้นทะเบียนยาเพื่อได้รับสิทธิการจำหน่าย และการคุ้มครองนี้ไม่อยู่ภายใต้ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (TRIPS) ในข้อบทเจรจานี้อียูจะให้มีการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยานี้ยาวนานถึง 5 ปี เมื่อบริษัทที่ผลิตยาสามัญใช้ข้อมูลเดียวกันนี้เพื่อขอรับสิทธิในการจำหน่ายทันทีเมื่อสิทธิบัตรยาหมดอายุ หมายความว่าบริษัทที่ผลิตยาสามัญในไทยจะไม่สามารถผลิตยานั้นได้ หรือไทยจะซื้อยาสามัญชนิดเดียวกันที่ผลิตได้แล้วในราคาต่ำในต่างประเทศมาขายในไทยไม่ได้จนกว่าระยะเวลาคุ้มครองจะหมดไป

"ปัญหาคือหากบริษัทยานำข้อมูลทดสอบยามาขึ้นทะเบียนในไทยหลังจากสิทธิบัตรหมดอายุก็จะสามารถได้รับการคุ้มครองไปอีก 5 ปี รวมเวลาคุ้มครอง 25 ปีที่เขาจะผูกขาดขายยาราคาแพงโดยจะไม่มียาสามัญที่อาจขายอยู่แล้วในต่างประเทศนำเข้ามาขายแข่งในไทยได้"

และประเด็นที่ 3 คือ การกำหนดเงื่อนไขที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing : CL)

สำหรับการขอต่ออายุสิทธิบัตรยา ในคำว่า "ล่าช้า" นั้น นายบัณฑูรให้ข้อเสนอแนะคณะเจรจาฝ่ายไทย จะต้องศึกษาว่าอียูให้คำจำกัดความของคำว่าล่าช้าไว้อย่างไร ปัจจัยอะไรที่จะอ้างว่าล่าช้า ซึ่งต้องเจรจาให้อียูกำหนดให้ชัด เจน หากข้อกำหนดยอมรับได้ไทยต้องเร่งปรับปรุงงานขึ้นทะเบียนในไทยเพื่อเลี่ยงปัญหานี้ให้ได้ และข้อกำหนดใดที่เป็นข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุผลข้าราชการไทยอาจทำไม่ได้ต้องพิจารณาให้ตัดออกไปเพื่อในทางปฏิบัติจะไม่เกิดการยืดอายุเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร

ข้อที่ 2 เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยาเพื่อนำมาขาย แนวทางป้องกันคือ ต้องเจรจาให้กำหนดวันที่มีการขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยา เมื่อทำไว้ที่ประเทศใดในโลกเป็นที่แรกให้ถือว่าวันนั้นได้ขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยาไว้แล้วในไทยในวันเดียวกัน เพื่อที่ระยะเวลาการคุ้มครองในไทยจะไม่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ และจะสิ้นสุดลงพร้อมๆ กันกับประเทศอื่นๆ และยาใหม่ๆที่เริ่มขายในประเทศอื่นในโลกจะมีขายในประ เทศไทยด้วย และปัญหาข้อที่ 3 การที่อียูไม่อนุญาตให้ไทยทำซีแอลยาไทยต้องยืนยัน ให้เงื่อนไขเป็นไปตามที่นานาประเทศได้ตกลงไว้ภายใต้ TRIPS ใน WTO

"ทั้งหมดถือเป็นข้อเสนอแนะในการเจรจาที่ต้องเตรียมพร้อม ไม่ใช่ห่วงยาแพงเอ็นจีโอก็บอกอย่าไปเจรจา หากเราไม่เจรจาจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้เพราะประเทศอาเซียนอื่นๆ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอทวิภาคีกับอียูเช่นกัน"

ส่วนกรณีที่เกรงกันว่านักธุรกิจอียูอาจฟ้องร้องรัฐบาลไทยหากเกิดความเสียหายจากนโยบายรัฐ เช่นกรณีพิมพ์ภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งบนซองบุหรี่ หรือพิมพ์ข้อความเพื่อให้คนเลิกบุหรี่ บริษัทบุหรี่อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าทำให้ขายได้น้อยลงไทยควรใช้เหตุ ผลเดียวกับอียูที่อ้างต่อสหรัฐฯในการเจรจาเอฟทีเอว่า หากบริษัทบุหรี่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ผู้ฟ้องร้องภายใต้ข้อบทนี้จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการเจรจาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วยหากเกิดกรณีคล้ายกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 ส.ค. 2556