ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอประดิษฐ" ยันกรอบเจรจา ไทย-อียู ไม่เข้า ครม.สัปดาห์หน้า เหตุติดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เผยการเจรจายึดประโยชน์ประชาชนสูงสุด และหาทางเยียวยา ด้าน "เอ็นจีโอ" ชี้รัฐตั้งธงไว้แล้ว เมินดูผลกระทบการเจรจาว่าควรจะพิจารณารับไม่รับมากกว่า เตือนระวังเป็น รมต.ตราบาป เพราะทำประเทศเสียหาย เหตุประชาชนเข้าไม่ถึงยา ขณะที่กรมเจรจาการค้าฯ ชี้ หากไทยไม่เข้าร่วม หวั่นเสียเปรียบอาเซียน ตั้งเป้าเริ่มเจรจาต้นปีหน้า ก่อนไทยถูกตัดจีเอสพีปี 2558

วานนี้ (22 พ.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมหารือ เรื่อง "ข้อคิดเห็นต่อการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอ ไทย-อียู) ในประเด็น : การผูกขาดข้อมูลทางยา และการขอขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรเพิ่มเติม" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมยุโรป กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นต้น

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า วันนี้เป็นการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปพิจารณาเพื่อดูผลกระทบด้านบวกและด้านลบที่มีต่ออุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงการดูวิธีการป้องกันและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างกรณีการเดินหน้าเจรจาหากเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาจะมีการเยียวยาอย่างไร แต่เมื่อดูว่าหากเจรจาตกลงไปแล้ว ภาพรวมความสูญเสียที่มีต่ออุตสาหกรรมยามีมากกว่าเมื่อไม่เจรจาก็ต้องมาดูว่าจะเยียวยาความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไร แต่วันนี้ถือเป็นวันแรกที่มาร่วมแสดงความเห็นปัญหาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ยังไม่ได้ตกลงรับกรอบการเจรจา ซึ่งหลังที่จากประชุมวันนี้แล้ว รัฐบาลยังมีขั้นตอนดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในทุกด้าน ก่อนจะส่งเข้าพิจารณาใน ครม. เพื่อส่งต่อขออนุมัติจากรัฐสภา

"เราอาจมีข้อตกลงกันภายในประเทศเองก็ได้ อย่างกรณีการขอขยายครอบคลุมสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี โดยอ้างว่าเป็นเพราะขั้นตอนดำเนินการล่าช้า เราก็อาจมีการแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการเร็วขึ้น ออกระเบียนการขึ้นทะเบียนยาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ทำให้ไม่ต้องขยายสิทธิบัตรตามเงื่อนไข สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทางออกแก้ไขได้ เพราะสิ่งที่ทางอียูยื่นมาไม่ใช่ว่าเราต้องทำตามทุกอย่าง เรายังสามารถเจรจาเพื่อเสนอเงื่อนไขต่อรองได้ ส่วนที่เกรงว่าจะมีการนำกรอบข้อตกลงการเจรจาเข้าพิจารณาใน ครม.ในวันอังคารที่ 27 พ.ย.นี้ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เพราะในวันดังกล่าวเป็นวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล" รมว.สธ.กล่าว

ทั้งนี้อยากขอย้ำว่าบางเรื่องเป็นเรื่องภายใน หากเราทำการต่อรองไป เขาก็อาจมีการนำเสนอข้อต่อรองกลับมาได้อีก บางเรื่องก็ควรจบในประเทศ อย่างกรณีที่ประเทศชิลีและฝรั่งเศสขอเจรจาเพื่อลดภาษีเหล้า ซึ่งทางเราก็ยอมลดให้ แต่ภายในก็ให้กรมสรรพสามิตขึ้นภาษีเหล้าแทน ซึ่งจะทำให้ราคาเหล้าเพิ่มสูงขึ้นทำให้ลดการดื่มภายในประเทศลงได้ เรียกว่าเป็นวิธีแก้ไขภายใน โดยปล่อยให้การเจรจาดำเนินต่อไป

ผู้บริโภคชี้รัฐบาลตั้งธงไว้แล้ว

ด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นำกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยไม่ถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเหมือนกับการนำเข้ากรอบเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP อีกทั้งการประชุมวันนี้แทนที่จะเป็นการเปิดรับฟังความเห็น แต่กลับเป็นการประชุมที่ตั้งธงว่าเมื่อรับกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู แล้วจะมีการเยียวยาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องแทนที่จะมีการพูดคุยผลกระทบว่าควรรับกรอบการเจรจานี้หรือไม่

นอกจากนี้ที่ผ่านมาทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เคยจัดทำข้อมูลความเห็นต่อกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เสนอต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและเวทีอื่นๆ ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ชี้ผลเสียซึ่งจะเกิดขึ้นหากไทยรับกรอบการเจรจาดังกล่าว ทั้งการผูกขาดข้อมูลทางยาและการขอขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรเพิ่มเติม รวมไปถึงมาตรการจัดการปัญหาที่นำเข้าตามแนวชายแดน การยึดยา ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศที่รับตามกรอบเจรจาดังกล่าวและได้รับผลกระทบอย่างมาก

"รัฐบาลทราบหรือไม่ว่า ปี 2535 เราเคยมีรัฐบาลที่ผิดพลาดมาแล้วในการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร จนทำให้อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศล้มลง ส่งผลให้ปริมาณยานำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 60% และในปี 2555 นี้ เชื่อว่าจะพุ่งถึง 75%" นางสาวกรรณิการ์ กล่าว

เตือนระวังเป็น รมต.ตราบาป

ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หากวันนี้เป็นการพูดถึงการเยียวยาเป็นการชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลทราบแล้วว่าการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู มีความเสียหายเกิดขึ้นแน่ ซึ่งในอดีตแค่การยืดอายุสิทธิบัตรยาจาก 10 ปี เป็น 15 ปีก็เสียหายมากพออยู่แล้ว แต่หากมีการขยายอายุสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี เชื่อว่าความเสียหายจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการคุ้มครองข้อมูลทางยาที่เป็นข้อมูลสาธารณะหลังการขึ้นทะเบียนยา ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยมีบทเรียนปี 2535 แล้ว ในการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร จนกลายเป็นการทำลายระบบผลิตยาในประเทศจนเราไม่สามารถผลิตยาในประเทศได้

ดังนั้น หากในการเจรจามีการเสนอเงื่อนไขเจรจาโดยอ้างว่าการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรของไทยล่าช้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ควรไปแก้ไขตรงจุดดังกล่าวเพื่อไม่ให้ถูกยกเป็นกรอบเจรจาขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม การล่าช้าบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยทางบริษัทยาเองเพื่อกันข้อมูลทางยาของตนเอง

"หากหมอประดิษฐรับเรื่องนี้ และผลักดันให้เกิดการเยียวยา เรื่องนี้จะกลายเป็นตราบาปของการเป็นรัฐมนตรีของเขา เหมือนกับ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยผ่านการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร ปี 2535 จนทำให้เกิดปัญหาต่อระบบอุตสาหกรรมยาในประเทศทุกวันนี้ นอกจากนี้หมอประดิษฐควรตัดสินใจบนข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว" นายนิมิตร์ กล่าว

ชี้ต้องเจรจาตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก

รศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ นักวิจัยโครงการประเมินผลกระทบการเข้าถึงยาในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า อย.กับ สช. เห็นความสำคัญของผลกระทบด้านยาจากการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู จึงมีการศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศใช้เป็นข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาได้รวบรวมความเห็นจากสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่ามีทั้งความเห็นในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมและข้อกังวล ผลกระทบต่อการเข้าถึงยา และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบที่สรุปว่าประเทศไทยจะได้หรือเสียจากการเจรจานี้ รวมไปถึงมาตรการเยียวยาที่จะเกิดขึ้น ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2556 ซึ่งพอทันกับการเจรจาที่จะเกิดขึ้น จึงควรรอผลการศึกษานี้เสร็จก่อน

ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลผลการผูกขาดข้อมูลทางยาและการขอขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรเพิ่มเติมที่ผ่านมา ชี้ตรงกันว่าการเจรจาดังกล่าวควรเป็นไปตามข้อตกลงองค์การค้าโลก เพราะไม่เช่นนั้นผลประโยชน์เกิดขึ้นจะตกอยู่กับต่างชาติ ไม่ใช่ประเทศไทย อีกทั้งการพึ่งพิงด้านยานำเข้าของไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับหากมีการขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรออกไป 10 ปี ความ สูญเสียจะมากถึง 200,000 ล้านบาท และอาจมากกว่านั้น

อุตฯยา ยันไม่รับกรอบเจรจาไทย-อียู

ขณะที่ นายเชิงพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยที่จะมีการยืดการผูกขาดข้อมูลทางยาและการขอขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรเพิ่มเติม แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีบทเรียนการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ในปี 2535 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาอย่างมาก ดังนั้นการตกลงครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่า อีกทั้งจีเอสพีที่ได้ไทยรับก็ไม่ได้อยู่ยั่งยืนและสักวันหนึ่งก็จะหมดไป ต่างจากความสูญเสียระยะยาวที่เกิดจากผลกระทบด้านยา โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงยาที่จำเป็น

"ผมไม่กล้ารับกรอบการเจรจาตกลงการค้าไทย-อียู นี้ เพราะหากรับไปแล้วจะเป็นตราบาปให้อุตสาหกรรมยาไปตลอด โดยเฉพาะผมที่เป็นผู้นำองค์กร ดังนั้นจะให้บอกว่าอุตสาหกรรมยาจะไปแลกอะไรก็คงไม่กล้า" นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้ฝ่ายนโยบายเพื่อตัดสินใจ อย.คงไม่สามารถเสนอว่า รัฐบาลจะรับหรือไม่รับกรอบการเจรจานี้ อีกทั้งขณะข้อมูลยังผลกระทบยังไม่ชัดเจนและอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับ สช. ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอให้กับรัฐบาลได้โดยเร็ว ส่วนกรณีที่ อย.เคยนำเสนอชี้แจงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกรอบเจรจาไปแล้วนั้น อาจไม่ใช่จุดยืนทางการของ อย. เพราะเรามีคนหลายส่วน แต่เราก็ไม่ห้ามจะแสดงความเห็น เพียงแต่การนำเสนอข้อมูลที่เป็นทางการ ต้องเป็นข้อมูลที่ อย.ศึกษาและมีความพร้อมเท่านั้น

ชี้ไทยจำเป็นต้องทำเอฟทีเอไทย-อียู

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการเศรษฐกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายของอียู คือ เมื่อเจรจาแต่ละประเทศครบแล้วจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบเป็นการตกลงกับอาเซียน ซึ่งหากเราเจรจาทีหลัง หรือไม่เจรจาเลย เมื่อมีการปรับเป็นเอฟทีเอ อาเซียน-อียู นั่นหมายถึงว่าประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ตามและเสียเปรียบ เพราะแต่ละประเทศจะนำสิ่งที่เจรจาได้ไปใส่ในกรอบเอฟทีเอ อาเซียน-อียู ด้วยเหตุนี้จึงชี้ว่าทำไม่เราต้องทำเอฟทีเอ ไทย-อียู ทั้งนี้อียูถือเป็นผู้ส่งออกและนำเข้ารายใหญ่ของโลก โดยไทยก็มีก็ค้ากับอียูมากพอควรถือเป็นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และหากไม่เจรจาการลงทุนอียูที่จะมาไทยก็อาจถูกดึงไปประเทศอื่นๆ แทน

"ขณะนี้การพิจารณากรอบเจรจาเอฟทีเอต้องดำเนินไป หลังจากนั้นจะเสนอต่อ ครม. และนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา ก่อนที่จะเริ่มเจรจา โดยเราตั้งเป้าว่าจะเริ่มเจรจาต้นปี 2556 เนื่องจากปี 2558 ภาคเอกชนจะถูกตัดจีเอสพี จึงต้องการให้ไทยมีการเจรจาก่อนที่จะถูกตัดจีเอสพีลงเพื่อให้มีกรอบข้อตกลงเอฟทีเอมารับต่อไม่ให้ธุรกิจชะงักลง ทั้งนี้กรอบระยะเวลาการเจรจาต้องแล้วเสร็จภายในปีครึ่งเพื่อให้เริ่มมีผลปฏิบัติในวันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นสิ่งที่เอกชนอยากได้"

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการประเด็นทางการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอ ไทย- อียู เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะความเสียหายมีมาก โดยความเสียหายไม่แต่เฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิจีเอสพีที่ทำให้ส่งออกน้อยลงเท่านั้น แต่สินค้าไม่ได้รับจีเอสพีก็เสียหายไปด้วย เพราะจะเสียศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศที่เจรจากับทางอียู โดยสินค้าที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ บริษัทผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มีการส่งออกไปอียูเป็นจำนวนมาก อย่าง อีซูซุ มีปริมาณส่งออกร้อยละ 25 ไปอียู ดังนั้นหากไทยเสียสิทธิจีเอสพีก็คงต้องย้ายฐานการผลิตไป เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ผลกระทบจะเกิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะการย้ายฐานผลิตในปีแรก เชื่อว่าจะมีกว่า 300,000 ล้านบาท และจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ จีดีพี ลดลงร้อยละ 1 ต่อปี และจะเพิ่มไปเรื่อยๆ

"ประเทศเพื่อนบ้านทำเอฟทีเอ แต่ไทยไม่ทำจะก่อให้เกิดความเสียเปรียบอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ทางประเทศอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างมาก และไทยอาจเสียอุตสาหกรรมนี้ไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันพิจารณา" ประธานคณะกรรมการประเด็นทางการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555