ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เดินย่ำดินโคลน ผู้ที่มีอาชีพดักหนู เกษตรกร ระวังโรคฉี่หนู ปีนี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 1,459 ราย เสียชีวิต 13 ราย แนะการป้องกันให้สวมรองเท้าขณะเดินลุยน้ำย่ำโคลน ป้องกันการเกิดบาดแผล โดยเฉพาะผักสดที่เก็บมาจากป่าหรือจากทุ่งนาให้ล้างน้ำสะอาดก่อนรับประทาน

วันนี้ (19 สิงหาคม 2556) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงที่สร้างขึ้นใหม่เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอดอนจาน ที่ยกฐานะใหม่ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ใช้งบประมาณกว่า 9.9 ล้านบาท และเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ดูแลประชากร 25,744 คน มีแพทย์ 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาล 8 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ รวม 23 คน

นายแพทย์ณรงค์ ได้มอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยทั่วทุกภาคมีฝนตกต่อเนื่อง โรคที่พบได้บ่อยและมีอันตรายถึงแก่ชีวิตต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของไทย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่มักพบในเกษตรกรที่ทำงานในไร่ นา รองลงมาผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง และผู้ที่ต้องสัมผัสน้ำขังดินโคลนแฉะบ่อยๆ ซึ่งอาจสัมผัสเชื้อที่อยู่ในฉี่ของหนูที่เจือปนอยู่ในน้ำท่วมขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ หรือจากหนูที่เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนหรือในที่ทำงานได้ กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโรค เพราะโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประชาชนจึงต้องป้องกันดูแลตนเองไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยรักษาความสะอาดบ้านเรือน ภาชนะใส่อาหาร น้ำดื่ม สวมถุงมือขณะทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน และเก็บอาหารให้มิดชิดในภาชนะที่มีฝาปิดไม่ให้หนูมาฉี่รด

สำหรับเกษตรกร คนเก็บผัก หาปลา ที่ต้องสัมผัสน้ำ ย่ำโคลน ขอให้สวมรองเท้าบู๊ทยางหรือถุงพลาสติกคลุมเท้าป้องกันอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันของมีคมบาดเท้า เกิดบาดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย หลังขึ้นจากน้ำหรือเสร็จภารกิจในสวนไร่นา ให้รีบชำระล้างอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที ผักสดที่เก็บมาจากป่า ทุ่งนา ต้องล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทาน ส่วนผู้ที่มีอาชีพดักหนูต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะกรงจะมีฉี่หนูปนเปื้อนอยู่มาก ขอให้ใส่ถุงมือป้องกันการสัมผัสเชื้อที่อยู่ตามกรงหนู และล้างทำความสะอาดกรงด้วยผงซักฟอกและตากแดดฆ่าเชื้อ ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หากย่ำน้ำท่วมแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำ สบู่ และเช็ดให้แห้งทันที รวมทั้งสังเกตอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นด้วย หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงโดยเฉพาะที่น่องขา โคนขา ตาแดง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง อย่าซื้อยากินเอง โรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากการมาพบแพทย์ช้า ทำให้เชื้อโรคลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดไตวาย สมองอักเสบ

สถานการณ์โรคฉี่หนูในปี 2556 ตั้งแต่มกราคม -11 สิงหาคม ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 1,459 ราย เสียชีวิต 13 ราย พบผู้ป่วยมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 835 ราย เสียชีวิต 7 ราย รองลงมาภาคใต้ 376 ราย เสียชีวิต 6 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 จังหวัดได้แก่ 1.พังงา 2.ระนอง 3.เลย 4.สุรินทร์ และ 5.กาฬสินธุ์ โดยที่กาฬสินธุ์ ปี 2556 นี้ พบผู้ป่วย 72 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต