ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น่าจับตาภายหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระดับ 10 เพราะไม่เพียงเป็นการแต่งตั้งที่รวดเร็วทันใจ ชนิดไม่ให้ใครวิ่งเต้น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. ยังย้ำว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ เพียงต้องการให้การเดินหน้าปฏิรูปกระทรวง เป็นไปอย่างรวดเร็วเริ่มรับงบประมาณใหม่วันที่ 1 ตุลาคม 2556

เกิดคำถามว่า จะสนองนโยบายปฏิรูป สธ.ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะรองปลัด สธ.ที่ขึ้นมานั่งตำแหน่ง นอกจาก นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ที่ย้ายจากอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งหลายคนรู้จักดี ยังมีรองปลัด สธ.อีก 2 ท่าน คือ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ จากผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นรองปลัด สธ. และ นพ.อำนวย กาจีนะ งานนี้ต้องพิสูจน์ฝีมือ ลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกมองว่าเป็นนักเรียนร่วมสถาบันปลัด สธ. จนถูกขนานนามว่าเป็น กลุ่มเชียงใหม่ เพราะการเลื่อนขั้นครั้งนี้รวดเร็วทันใจหลังดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ สธ.เพียง 1 ปีเท่านั้น

ส่วน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา จากรองปลัด สธ. ทำงานเข้าตาจากเรื่องการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ ได้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรมการแพทย์ ส่วน นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัด สธ.มือดีด้านบริหารก็ขึ้นนั่งอธิบดี กรมควบคุมโรค แม้มีกระแสว่าเจ้าตัวอาจไม่ถูกใจมากนัก เพราะรอคอยตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย จึงเกิด กระแสเมาธ์ว่า เพราะฝ่ายการเมืองต้องการย้าย นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ จากอธิบดีกรมควบคุมโรค ไปกรมอนามัย ทำให้ต้องมีการย้ายข้าราชการอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดคำถามก็ต้องเลือกกรมที่เหมาะสม ซึ่งกรณี นพ.โสภณถือว่าไม่ขี้เหร่ เพราะได้กรมใหญ่ทีเดียว ส่วน นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการ สธ. เป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกคนนี้ นพ.ประดิษฐพูดเองว่า เมื่อเป็นผู้ตรวจราชการ มีการทำกิจกรรมเรื่องแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด

แหล่งข่าวระดับสูง สธ.มองว่า ดูจะผิดฝาผิดตัวเพราะอย่าง นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข จากอธิบดีกรมอนามัยมาเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต ทั้งๆ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับงานของตัวเอง ที่สำคัญยังโตมาจากกรมการแพทย์ ขณะที่ นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ. มาเป็นผู้ตรวจราชการ สธ.ก็ถูกมองว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดชมรมแพทย์ชนบททำให้ถูกโยก หรือแม้แต่นพ.อภิชัย มงคล จากผู้ตรวจราชการ สธ.มาเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลังจากพลาดหวังถูกลดจากอธิบดีกรมสุขภาพจิตมาเป็นผู้ตรวจ งานนี้เจ้าตัวกำลังภายในดีแน่

"เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเลือกของฝ่ายการเมือง เนื่องจากการปฏิรูป สธ.เป็นนโยบายของรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องหาคนที่ไม่ขัด และพร้อมเดินหน้า รวมไปถึงการเลื่อนขั้นให้กับผู้ที่ทำงานเริ่มต้นในการปฏิรูปมาตลอด อย่าง นพ.สุพรรณ และ นพ.โสภณ ส่วนข้าราชการอื่นๆ ที่ถูกโยกนั้นอาจเป็นเพราะงานนี้ต้องการโยก นพ.พรเทพ เพราะเป็น ขั้วอำนาจอย่าง นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัด สธ. บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มเดียวกับอดีตรัฐมนตรี สธ. "วิทยา บุรณศิริ" แต่อีกกระแสมองว่า การโยกย้ายครั้งนี้มาจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เพราะ นพ.ทรงยศ และ นพ.อำนวยเป็นเสมือนกลุ่มเชียงใหม่จบสถาบันเดียวกัน" แหล่งข่าวกล่าว และว่า สำหรับทิศทางของ สธ.ในอนาคตอาจไม่สวยหรูนัก เพราะ นพ.ประดิษฐทำงานรูปแบบเอกชน ย่อมมีจุดอ่อนตรงไม่มีแรงสนับสนุน แม้การเดินหน้าปฏิรูป สธ.จะไม่มีคนขัดชัดเจน แต่การให้เป็นรูปเป็นร่างด้วยการทำงานอย่างเอกชนคงไม่ง่ายนัก เพราะการปฏิรูปต้องมีการวางกลยุทธ์ด้วยความร่วมมือจากข้าราชการทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าปฏิรูป สธ. นพ.ประดิษฐตั้งใจเดินหน้าเต็มที่ เห็นชัดจากการมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับปรุงตัวเองให้ทำงานรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์นำเข้าต่างๆ โดยเฉพาะกรณีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ที่ นพ.ประดิษฐเอ่ยปากว่า หากไทยมีระบบขึ้นทะเบียนรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ฝ่ายตรงข้ามที่มาเจรจาก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างเจรจา ขอสิทธิยืดอายุสิทธิบัตรต่างๆ โดยต้องปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นภายในปีนี้

กรมอื่นๆ ก็ต้องรอติดตามผลงาน เพราะมีการประเมินผลปฏิบัติงาน หรือตัวชี้วัดเคพีไอ (KPI) ให้ร้อนๆ หนาวๆ อยู่...

ที่มา  --มติชน ฉบับวันที่ 27 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--