ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่  ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ (ร้อย แก่น สาร สินธุ์) รับผิดชอบจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,000,798 คน  ปัจจุบัน นายแพทย์ อภิชัย มงคล เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง และนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ เป็น สาธารณสุขนิเทศก์ บริหารโดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานราชการในเขตสุขภาพที่ 7 สำหรับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) ใน 10 สาขา ของเขตสุขภาพที่ 7 นั้น ทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนลงทุน ซึ่งได้รับรวมจัดทำเป็นแผนรวมระดับเขตทั้ง 10 สาขา โดยมีแผนงาน/โครงการ ระดับเขต

แผนบริการสุขภาพเครือข่าย (Service Plan) เป็นแผนจัดบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน หลักการสำคัญคือ เป็นแผนในการจัดบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการของหน่วยบริการสาธารณสุข ซึ่งประชาชนจะได้รับบริการที่ได้มาตรฐานโดยเครือข่ายบริการเชื่อมโยงไร้รอยต่อ สามารถบริการเบ็ดเสร็จในเครือข่ายบริการ เป้าหมายสำคัญ (Goal) ของ Service Plan คือ "ประชาชนจะเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน โดยเครือข่ายบริการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อ สามารถบริการเบ็ดเสร็จภายในเครือข่ายบริการ" วัตถุประสงค์ (Objectives) ของ service plan  1.เพื่อจัดบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเชื่อมโยงในเครือข่ายแบบไร้รอยต่อ

2.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันในเครือข่ายบริการ

3.เพื่อการจัดบริการและทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพโดยการจัดทำแผนแม่บทร่วมกันทั้งเครือข่าย Service plan 10 สาขา ได้แก่ 1) สาขาหัวใจและหลอดเลือด 2) สาขามะเร็ง 3) สาขาทารกแรกเกิด 4) สาขาอุบัติเหตุ 5) สาขาจิตเวช 6) สาขาบริการหลัก 5 สาขา ได้แก่ สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และออร์โธปิดิกส์ 7) สาขาบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิและดูแลสุขภาพองค์รวม 8) สาขาทันตกรรม 9) สาขาไตและตา และ 10) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งประกอบด้วย DM, HT, COPD โดยแต่ละสาขาจะต้องมีการจัดทำแผน 3 ประเภท ได้แก่ แผนยกระดับบริการ/พัฒนาระบบบริการ, แผนงบลงทุน (อาคาร ครุภัณฑ์) และแผนอัตรากำลัง (HRP/HRD) ทั้งแผนระยะ 3-5 ปี และแผนระยะยาว 10 ปี เป้าหมาย (Target) 5 ประเด็นของ service plan ลดอัตราป่วย เช่น สาขา NCD, ทันตกรรม, ไต, ตาลดอัตราตาย เช่น สาขาหัวใจ, สาขาอุบัติเหตุ, สาขามะเร็ง, สาขาจิตเวช (ฆ่าตัวตาย), สาขาอายุรกรรม(Stroke) และสาขา NCD (COPD)ลดระยะเวลารอคอย เช่น สาขาหัวใจ, สาขามะเร็ง, สาขาตา, สาขาไต, สาขาทารกแรกเกิด, สาขาจิตเวช และสาขาทันตกรรมเพิ่มการเข้าถึงบริการ (บริการที่ได้มาตรฐาน) เช่น Fast track สาขาต่างๆ , สาขาหัวใจ และ  NCD เพิ่มประสิทธิภาพ (ลดค่าใช้จ่าย) ในทุกสาขา แผนบริการสุขภาพเครือข่าย (Service Plan) 10 สาขา โรงพยาบาลขอนแก่นมีแผนที่จะพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมทั้ง 10 สาขา โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขา ได้แก่ สาขาอุบัติเหตุ สาขามะเร็ง สาขาหัวใจ และสาขาทารกแรกเกิด ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่นได้กำหนดเป็น Excellent center ทั้ง 4 สาขามามากกว่า 2 ปี ขณะเดียวกัน หลังจากที่นโยบายกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มี 10 สาขา นั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ได้กำหนดให้โรงพยาบาลขอนแก่นรับผิดชอบเป็น focal point 6 สาขา ได้แก่ 1) สาขาหัวใจ 2) สาขามะเร็ง 3) สาขาทารกแรกเกิด 4) สาขาอุบัติเหตุ 5) สาขาจิตเวช 6) สาขาตา

สำหรับสาขาที่เหลือแม้ว่าโรงพยาบาลขอนแก่นไม่ได้เป็น focal point ในระดับเขต แต่ก็ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าไม่น้อยกว่า 6 สาขาดังกล่าวเช่นกัน และมีแผนที่จะดำเนินการปรับปรุงทั้ง 10 สาขาไปด้วยกัน พร้อมกับพัฒนาบริการที่เป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ เป็นต้นว่า โรคไข้เลือดออก วัณโรค อุจจาระร่วง ภาวะขาดไอโอดีน ยาเสพติด เป็นต้น

โรงพยาบาลขอนแก่นได้มีการริเริ่มดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมาก่อนที่จะมีการมอบนโยบาย service plan จนมีความโดดเด่นเป็นที่ศึกษาดูงานของโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งในและนอกเขตสุขภาพ เช่น สาขาศัลยกรรม สาขาอายุรกรรม สาขาสูตินรีเวชกรรม เป็นต้น เพียงแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกสาขา และมีแนวโน้มที่สาขาอื่นๆจะพัฒนาตามในรูปแบบเดียวกัน พอมีนโยบายส่วนกลางกำหนดให้มี service plan ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ดำเนินงานที่มีอยู่ก้าวหน้าได้เร็วมากขึ้น เสริมพลังที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรคนั้น แม้จะมีอยู่ แต่ก็คิดว่ายังสามารถที่จะแก้ไขได้ เป็นต้นว่า ความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือ ของบุคลากรในเครือข่าย เดิมจะต้องใช้พลังค่อนข้างมากในการจัดอบรม ประชุมเพื่อกระตุ้นให้บุคลากรมีความรู้และให้ความสำคัญ กว่าจะจัดให้ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมายต้องใช้ความพยายามมาก แต่พอมีนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนแล้ว พบว่า ผู้บริหารเปิดโอกาสและเข้ามา กระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดปัญหาเรื่องความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือลงได้อย่างมาก แต่ก็ยังพบปัญหาสำคัญคือ ภาระงานที่มากขึ้นเรื่อยๆของหน่วยบริการทุกระดับ ขณะที่อัตรากำลังมีน้อย สัดส่วนไม่สมดุลระหว่างจำนวนคนกับภาระงาน ทำให้บุคลากรมีความเหนื่อยหน่ายและท้อแท้ ต้องการกำลังใจหรือแรงจูงใจที่มากขึ้น เรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆมากขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อการพัฒนางาน นั่นเอง

สถานบริการแต่ละระดับตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล: รพ.สต.) ระดับ ทุติยภูมิ (รพช.) และระดับตติยภูมิ (รพท./รพศ.) ต่างก็จัดทำแผนพัฒนาตามนโยบาย service plan 10 สาขา เป็นอย่างน้อย โดยกำหนดศักยภาพของแต่ละระดับที่ชัดเจน หากเกินศักยภาพของสถานบริการนั้นก็จะส่งผู้ป่วยไปรักษาในสถานบริการเครือข่ายที่สูงขึ้นตามลำดับ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมีการจัดทำแผนร่วมกันภายใต้แม่ข่ายที่เป็นผู้ช่วยเหลือทั้งด้านบริหาร บริการ และวิชาการ รวมถึงการจัดแพทย์ระดับแม่ข่ายออกไปช่วยตรวจรักษาในสถานบริการเครือข่ายทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ใกล้บ้าน ใกล้ใจ และภายใต้แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญออกมาให้บริการใกล้บ้าน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ทุกครั้งที่ป่วย โดยเฉพาะโรคทั่วไปหรือโรคที่ยังไม่รุนแรง และเมื่อเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แนะนำให้ไปรับบริการที่ รพ.สต.หรือหน่วยบริการเบื้องต้น ที่กำหนดไว้ และควรมีการไปใช้บริการในระดับที่สูงขึ้นก็ ต่อเมื่อได้รับการส่งตัวตามความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้รับบริการตามความเหมาะสมต่อไป

ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 31 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--