ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -อภ.บรรจุยาฤทธิ์ต่างกันสลับซอง แจกจ่ายแล้ว 6 แสนเม็ด 7 โรงพยาบาล นพ.ประดิษฐสั่งสอบ ข้อเท็จจริง เลขาฯ อย.ชี้ไม่อันตราย ต่อผู้ป่วย

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุบรรจุยาที่มีฤทธิ์แตกต่างสลับซองกันและแจกจ่ายไปแล้ว 600,000 เม็ด ใน 7 โรงพยาบาล (รพ.) ขณะที่ อภ.ได้ประสานหยุดจ่ายยาดังกล่าว พร้อมเรียกคืนยาทั้งหมด และตรวจสอบว่ามีผู้ป่วยที่รับยาสลับกันจำนวนเท่าใด

ทั้งนี้ นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กันยายน ว่า หลังเกิดปัญหาการบรรจุยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate) ขนาด 10 มิลลิกรัม สลับกับยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ขนาด 5 มิลลิกรัม และกระจายไปยัง รพ.ในสังกัด สธ. โดยเภสัชกรประจำ รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี พบความผิดปกติแล้วแจ้งมายัง สธ. จึงสั่งการให้หยุดจ่ายยาและเรียกคืน พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ อภ.ตรวจสอบเรื่องนี้

"อภ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร เนื่องจากมีการพูดกันว่าเกิดจากขั้นตอนการผลิตช่วงกลางคืน ซึ่งมองว่าไม่ใช่เหตุผล ดังนั้น จึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและขอให้มีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างสหภาพแรงงานให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและขอให้มีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย พร้อมทั้งย้ำว่า เรื่องนี้ห้ามปิดบัง ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับสาธารณชนทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นด้วย" นพ.ประดิษฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเกิดปัญหาทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในยาที่ อภ.ผลิตหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น แต่อยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และชี้แจงว่ามาจากปัญหาอะไร เมื่อถามว่า มีกระแสว่ากรณีดังกล่าวเป็นการดิสเครดิตในช่วงผู้อำนวยการ อภ.เข้ารับตำแหน่งใหม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า หวังว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหากเป็นจริงดูจะไม่เป็นธรรมกับ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. เพราะช่วงที่มีปัญหาเป็นช่วงประมาณเดือนมิถุนายน จึงไม่น่าจะใช่ อย่างไรก็ตาม ขอให้มีการตรวจสอบก่อน

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ยาจำนวนนี้กระจายไปแล้วจำนวน 600,000 เม็ด เป็นยาล็อตหมายเลข เอฟ 561217 ซึ่งบรรจุผิด โดยเป็นล็อตที่ผลิตและกระจายไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นกระจายไป รพ. 7 แห่ง แต่พบปัญหา 5 แห่ง ประกอบด้วย รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี รพ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ รพ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ รพ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และ รพ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ซึ่งพบว่า รพ.เหล่านี้ได้กระจายยาให้กับผู้ป่วยไปบ้างแล้ว เบื้องต้นได้ประสานให้หยุด จ่ายยาดังกล่าว และเรียกคืนยาล็อตทั้งหมด พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามีผู้ป่วยที่รับยาสลับกันจำนวนจ่ายยาดังกล่าว และเรียกคืนยาล็อตทั้งหมด พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามีผู้ป่วยที่รับยาสลับกันจำนวนเท่าใด

"จากหารือกับ อภ.เบื้องต้น ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงน่าจะสรุปได้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วน อย.ได้ตั้งระดับความรุนแรงของปัญหาการผลิตยาครั้งนี้ที่ระดับ 2 ยังไม่รุนแรงถึงระดับ 1 โดยระดับ 2 อย.ได้ประสาน อภ.หยุดผลิต หยุดจ่ายยา เรียกคืนยา สอบสวนข้อเท็จจริง และรายงานให้ อย.ทราบต่อไป" นพ.บุญชัยกล่าว และว่า สำหรับข้อกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้รับประทานยาสลับกันหรือไม่นั้น เบื้องต้นจากการสอบถามเภสัชกร ทราบว่ายาทั้งสองชนิดเป็น กลุ่มเดียวกัน แต่ฤทธิ์อาจแตกต่างไม่มาก เหมือนกับการให้ยา หากเป็นเริ่มแรกจะให้ยากลุ่มแรกก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นจะให้ยาอีกกลุ่ม ไม่ได้ส่งผลอะไร ดังนั้นไม่ต้องกังวล และไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจาก รพ.แต่ละแห่งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดแล้ว

ขณะที่ นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต เป็นยาขยายหลอดเลือด ใช้ในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นหลัก ส่วนยาแอมโลดิปีนเป็นยาลดความดันโลหิตสูง โดยการรับประทานยาสลับกันนั้นย่อมมีผลโดยตรงกับร่างกาย อย่างเช่นในกรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางรายที่จำเป็นต้องทานยาแอมโลดิปีนอย่างต่อเนื่องนั้น หากไม่ได้รับประทานอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ประกอบกับการรับประทานยาขยายหลอดเลือดทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจก็มีผลต่อร่างกายได้ เนื่องจากตัวยาขยายหลอดเลือดอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการหน้ามืด ปวดศีรษะ หรือวูบได้ ในบางรายที่ความดันโลหิตสูง มากๆ และไม่ได้รับประทานยาควบคุมความดันต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง

ด้าน นพ.ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการ รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า หลังรับแจ้งจาก อภ.ถึงความผิดพลาดในการบรรจุยาที่เกิดขึ้น ทาง รพ.ได้สั่งหยุดจ่ายยาล็อตดังกล่าวทันที พร้อมตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งจำนวนยาที่สั่งซื้อ และตรวจสอบทะเบียนผู้ป่วยที่แพทย์ได้สั่งจ่ายยาดังกล่าวให้ไปรับประทาน ที่สั่งซื้อ และตรวจสอบทะเบียนผู้ป่วยที่แพทย์ได้สั่งจ่ายยาดังกล่าวให้ไปรับประทาน

"ผลตรวจสอบพบว่า รพ.มะการักษ์สั่งซื้อยาล็อตดังกล่าว 2,000 กล่อง บรรจุกล่องละ 100 เม็ด รวม  200,000 เม็ด โดยเม็ดยาบรรจุอยู่ในแผงฟอยล์ ลักษณะทึบ แผงละ 10 เม็ด ซึ่งแพทย์ได้สั่งจ่ายยาไปให้ผู้ป่วย 939 ราย รวม 66,600 เม็ด ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุ แผนกอายุรกรรม ขณะนี้ได้เรียกคืนยาจากผู้ป่วยมาแล้วเกือบ 20,000 เม็ด" นพ.ธีระชัยกล่าว

นพ.ธีระชัยกล่าวว่า ทาง รพ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดตามผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าวไปเพื่อแจ้งให้หยุดรับประทานยาดังกล่าวทันที พร้อมกับให้นำยาที่ได้รับไปมาเปลี่ยนยาใหม่ นอกจากนี้ ยังได้โทรศัพท์ติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยรายใดมีอาการผิดปกติหลังจากรับประทานยาดังกล่าวเข้าไป เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และออกฤทธิ์คล้ายกัน โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นที่จะต้องมาตรวจสุขภาพร่างกายอีก หากไม่มีอาการผิดปกติ

นพ.ชำนาญ สมรมิตร ผู้อำนวยการ รพ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า รพ. ยางชุมน้อยได้รับยาแอมโลดิปีน ขนาด 5 มิลลิกรัม จำนวนไม่กี่พันเม็ด เนื่องจากเป็น รพ.ขนาดเล็ก ส่วนยาที่จ่ายให้คนไข้ก่อนหน้านี้ยังไม่มีปัญหาอย่างใด รวมทั้งคนไข้ยังไม่มีอาการผิดปกติ แต่ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกแห่งในเขต อ.ยางชุมน้อย ได้รับทราบ และประสานงานไปยังโรงพยาบาลสุขภาพตำบลต่างๆ ให้หยุดจ่ายยาและเรียกคืนยาล็อตดังกล่าวแล้ว

"ขอฝากเตือนประชาชนที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจในเขต อ.ยางชุมน้อย ว่าขอให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอมโลดิปีน ขนาด 5 มิลลิกรัม ตรวจสอบว่าใช่ยาล็อตหมายเลขเอฟ 561217 ที่ รพ.จ่ายให้แก่ผู้ป่วยในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหรือไม่ หากใช่ ให้รีบติดต่อ รพ.ยางชุมน้อย โดยให้นำยาที่เหลือมาด้วย เพื่อตรวจสอบยาและเฝ้าระวังอาการต่อไป" นพ.ชำนาญกล่าว

ภญ.สุกัญญา แก้วสิงห์ เภสัชกรชำนาญการ รพ.ยางชุมน้อย กล่าวว่า ได้มีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยไปแล้วกว่า 100 ราย และได้ประสานงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยที่รับยาไปได้ทราบ เพื่อตรวจสอบยาที่รับไปแล้ว หากไม่ตรงขอให้นำมาส่งคืน เพื่อจะได้เปลี่ยนยาให้ใหม่

น.ส.สมพิศ จำปาเงิน ผู้อำนวยการ รพ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า รพ.หนองหญ้าไซ สั่งยามาทั้งหมด 400 กล่อง รวม 40,000 เม็ด และได้เรียกเก็บยาส่งคืนแล้วส่วนหนึ่งประมาณ 75 กล่อง ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้มีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยไปแล้วกว่า 500 ราย ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบจนไปถึงบ้านผู้ป่วยทุกรายที่รับยาไปแล้ว ไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 กันยายน 2556