ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.พ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานจัดการประชุมโรคพิษสุนัขบ้านานาชาติของทวีปเอเชีย ครั้งที่ 4 กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่จัดประชุมขึ้นในประเทศไทย โดยมูลนิธิโรคพิษสุนัขบ้าเอเชีย (Rabies of Asia) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุม 21 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน ไต้หวัน อินเดีย กัมพูชา ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เยอรมัน ศรีลังกา สวิสเซอร์แลนด์ ไทย บราซิล แคนาดา และเวียดนาม ที่ประชุมได้มีการพูดถึงประสบการณ์การป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในอดีต ย้อนหลัง 25 ปี และคาดการณ์การป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในอีก 25 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ดีของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นแกนนำในการกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าประสบความสำเร็จ เป็นประเทศตัวอย่างที่ดีในกลุ่มประเทศที่ยังคงมีปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ แต่ที่น่าสนใจคือ ประเทศมาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นปลอดโรคพิษสุนัขบ้ามานานกว่า 50 ปี ประเทศญี่ปุ่นมีการขึ้นทะเบียนสุนัขทุกตัว มีการฝังไมโครชิพในสุนัข หากมีสุนัขเข้าประเทศเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนอย่างเข้มงวด และอยู่ในที่กักกันเป็นระยะเวลา 7 วัน ส่วนประเทศมาเลเซียนั้น มีการลงทะเบียนสุนัขทุกตัว มีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสุนัข และแมว และมีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคจากสัตว์สู่คนอย่างเข้มงวดหลายฉลับ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มแข็ง ด้วยการให้วัคซีนแก่สุนัขทุกตัวที่อยู่บริเวณชายแดนของประเทศมาเลเซีย กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นเขตกันชนไม่ให้โรคเข้าไปแพร่ภายในประเทศ ซึ่งจากประสบการณ์ของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้นักวิชาการของประเทศต่างๆ สามารถนำประสบการณ์ที่ดีมาใช้ในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศของตนต่อไป

การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากเอเชีย ภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) โดยแต่ละประเทศต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และแผนปฏิบัติงาน 5 ปี ในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เป็นแผนระดับประเทศ และทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ และกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่ป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ ด้านการเข้าถึงบริการนั้น รัฐต้อง เตรียมพร้อมดูแลป้องกันโรคในคน คนที่ถูกสุนัข หรือแมวบ้ากัด ให้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว หลังถูกสัตว์กัด ส่วนสุนัข 70% ของสุนัขทั้งหมดต้องได้รับการฉีดวัคซีน รวมทั้งต้องควบคุมไม่ให้มีจำนวนสุนัขที่มากเกินไป นอกจากนี้ทุกประเทศต้องจัดให้มีห้องปฏิบัติการที่เพียงพอในการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศ สำหรับประเทศไทยได้มีแผนการดำเนินงานตามข้อตกลงแล้ว โดยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขไม่ต่ำกว่า 80%

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 18 กันยายน 2556