ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม ลดโรคอ้วน โรคเบาหวาน แนะผู้ป่วยเบาหวาน ใช้ความหวานจากพืชธรรมชาติทดแทน เผยคนไทยกินหวานจัด เฉลี่ยคนละเกือบ 30 กิโลกรัมต่อปี สูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก 3 เท่าตัว 

วันนี้ (29 กันยายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว “คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม”

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล ผู้ประกอบการโรงแรม/สถานที่จัดประชุม และภาคีเครือข่าย เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม “คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม” ลดการบริโภคน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ให้ได้วันละไม่เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัม ทำครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลทรายบรรจุซอง 47 แห่ง ให้ผลิตน้ำตาลซองขนาด 4 กรัม และขอความร่วมมือโรงแรม สถานที่จัดประชุม ประมาณ 8,000 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัมแทน คาดว่าจะช่วยลดความสูญเสียจากน้ำตาลปีละไม่ต่ำกว่า 174 ล้านบาท เนื่องจากมีผลสำรวจการจัดเครื่องดื่มงานประชุมในโรงแรม พบว่าผู้เข้าประชุมไม่สนใจปริมาณในซองน้ำตาล และมักใช้เพียง 1 ซอง บางคนใช้ไม่หมดซอง อีกทั้งการสำรวจในกลุ่มโรงแรมและกลุ่มผู้บริโภค เห็นด้วยกับมาตรการกำหนดขนาดน้ำตาลซอง 4 กรัม

ทั้งนี้ พบว่าคนไทยรับประทานน้ำตาลสูงมากเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน หรือวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 3 เท่าตัว ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปพบถึง 1 ใน 10 หรือ 5.5 ล้านคน ทำให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำตาลมีอยู่ในอาหารมื้อหลัก อาหารว่าง และชา กาแฟที่นิยมใส่น้ำตาลลดความขม หากคนไทยหันมาใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม จะลดปริมาณน้ำตาลได้คนละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบเท่าพลังงานที่ใช้ในการเดินไป-กลับ กทม.-สระบุรี

ด้าน นพ.บุญชัย กล่าวว่า อย. ได้จัดทำประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงฉลากน้ำตาลทรายชนิดซอง เพื่อเป็นแนวทางการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายชนิดซอง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดให้พิมพ์ข้อความภาษาไทยเห็นชัดเจนและอ่านง่าย ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ เดือนและปีที่ผลิต และพิมพ์ข้อความ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลซอง และสมาคมโรงแรมไทยเป็นอย่างดี 

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ อย. และกรมอนามัย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับลดขนาดน้ำตาลบรรจุซองเพื่อลดการบริโภคหวานของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม มีสาระสำคัญภายใต้กรอบแนวคิดคือ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนจากภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน รวมทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการควบคุมการบริโภคน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายการจัดซื้อน้ำตาลบรรจุซองของผู้ให้บริการจัดประชุม และลดขยะเหลือทิ้ง โครงการดังกล่าวต้องทำได้ทันทีและส่งผลเชิงพฤติกรรมได้เร็ว ต้องใช้งบประมาณไม่มาก ไม่ต้องออกระเบียบหรือประกาศใหม่ สามารถใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุได้ และจะรณรงค์สื่อสารให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลบรรจุซองต่อไป

นพ.พรเทพ กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการอาหารว่างเพื่อสุขภาพ หรือเฮลท์ตี้มีทติ้ง (Healthy Meeting) เน้น 2 เรื่อง คือ 1.อาหารว่างที่ให้พลังงานต่ำกว่า 150 กิโลแคลอรีต่อวัน เช่น ผลไม้ ขนมที่ไม่หวานจัด และใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม และ 2.มีการจัดกิจกรรมยืดเหยียดร่างกายคลายความเครียดระหว่างการประชุมด้วย ซึ่งขณะนี้มีภาคีเครือข่ายได้เข้าร่วมขับเคลื่อนรณรงค์แล้ว โดยภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของภาคเอกชน ได้แก่ ร้านแบล็คแคนยอน จำนวนกว่า 200 สาขา และร้าน คาเฟ่ อเมซอน จำนวนกว่า 1,000 สาขา โดยร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกที่ร่วมรณรงค์น้ำตาลซอง 4 กรัม คือสาขากรมอนามัย และจะขยายรณรงค์ทั่วประเทศในต้นปี 2559 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถอ่านและดาวน์โหลดหนังสือ เฮลท์ตี้มีทติ้ง (Healthy Meeting) ได้ที่ www.ebook.in.th/anamaibook/

นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว แนะนำให้ใช้ความหวานจากธรรมชาติหรือพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ 1.หญ้าหวาน ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150-300 เท่า และไม่มีผลเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย 2.ชะเอมเทศ มีสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า โดยใช้รากหรือเนื้อไม้ชะเอมเทศบดใส่ในอาหาร ใส่หรือต้มลงในเครื่องดื่ม ไม่ควรใช้เกิน 50 กรัมต่อวัน ติดต่อกัน 6  สัปดาห์ เนื่องจากจะทำให้มีปัญหาน้ำคั่งในร่างกาย เกิดอาการบวมได้ จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และ3.น้ำตาลจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ซึ่งจะให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทราย โดยน้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี่ ขณะที่น้ำตาลทรายให้พลังงาน 20 กิโลแคลลอรี่

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า การรณรงค์ปรับลดปริมาณน้ำตาลเหลือซองละ 4 กรัมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการมีสุขภาพดี โดยปัจจุบันไทยมีข้าราชการพลเรือนทั้งสิ้น 358,735 คนทั่วประเทศ เมื่อคำนวณจากที่เคยใช้น้ำตาลซองละ 6 กรัม ปริมาณที่ลดลงซองละ 2 กรัม หากทุกคนประชุมเฉลี่ย 5 ครั้งต่อเดือน จะลดปริมาณการใช้น้ำตาลลง 3,587.35 กิโลกรัมต่อเดือน หากขยายนโยบายไปสู่การจัดประชุมสัมมนาอื่นๆ จะช่วยลดปริมาณการใช้ได้อีกจำนวนไม่น้อย และลดปัญหาโรคอ้วน จุดเริ่มต้นของโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเอ็นซีดี (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการตายร้อยละ 63 ของการตายทั้งหมดของประชากรโลก