ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันหุ้น - สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระจายวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ให้ 5 บลจ. ร่วมบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม เฉลี่ยรายละ 9 พันล้านบาท หวังกระตุ้นผลตอบแทนการลงทุนขยายตัวเพิ่ม พร้อมเผยแผนระยะยาว 5 ปี เล็งลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง หันเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อดันผลตอบแทนขยับขึ้นเป็น 5.5%

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และในฐานะประธานคณะกรรมการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ลงนามกับสถาบันทางการเงิน จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนทั้ง 5 รายได้ดำเนินการจัดจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

โดยกำหนดให้บริหารเงินทุนรายละ 9 พันล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556- 30 กันยายน 2561 เนื่องจากปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินกองทุนราว 1.04 ล้านล้านบาท และจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินดังกล่าวไปลงทุน เพื่อหาผลประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ซึ่งมีปริมาณเงินกว่าร้อยละ 90 ของเงินกองทุน และมีภาระการคุ้มครองในระยะยาวจึงจำเป็นต้องเร่งหาผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ด้านนายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สำนักบริหารการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะรองโฆษก สปส. กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สปส.ได้ว่าจ้าง บลจ. ให้เป็นผู้บริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม อยู่แล้วจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนพอร์ตลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาในปีนี้ โดยได้มีการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน ที่แบ่งสัดส่วนเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ 80% และตราสารทุนหรือหุ้นไม่เกิน 20% หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีเฉลี่ยมีเม็ดเงินลงทุนใหม่เพิ่มเข้ามาราว 1 แสนล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ประมาณ 7% หรือเป็นจำนวนเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างมาก ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าระดับ 7% แต่จำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.2-4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดหุ้นไทยนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการปรับตัวค่อนข้างผันผวน ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นลดต่ำลง

โดยส่วนใหญ่ สปส.จะเน้นบริหารเงินเอง ซึ่งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตจะแบ่งเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ 85% ตราสารทุน 10% ที่เหลือ 5% แบ่งเป็นตราสารหนี้ต่างประเทศ 3% เงินฝากราว 1% ที่เหลือเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปีนี้ สปส.ให้น้ำหนักความน่าสนใจเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่จะมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองใหม่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทาง สปส. จะเน้นเข้าลงทุนมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี

ในส่วนของการลงทุนในหุ้นของ สปส. พอร์ตลงทุนมีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งใกล้เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดแล้ว อาจจะมีการเสนออนุมัติคณะกรรมการ สปส. เพื่อขอแก้ไขกฎหมายขยายเพดานการลงทุน โดยส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีและถือลงทุนระยะยาว ส่วนในจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวผันผวนและปรับตัวลงมาค่อนข้างแรงจะทยอยเข้าเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมองว่าหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดยังคงมีแนวโน้มการ ปรับตัวที่ดี ตามการเติบโตของผลประกอบการที่คาดว่าจะขยายตัวได้อีกประมาณ 10-15%

นอกจากนี้ สปส. ยังได้มีการวางแผนการลงทุนระยะยาว 5 ปี โดยจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 36% จากปัจจุบันที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกิน 20% และจะลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงลง จากเดิมที่กำหนดไว้ 80% ในปัจจุบัน โดยจะลดเหลือ 64% ซึ่งเชื่อว่าการปรับสัดส่วนลงทุนดังกล่าว จะทำให้กองทุนมีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จาก 4.5% ในปัจจุบัน ขณะที่ในแต่ละปี สปส.จะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท

"ในแผนระยะยาว 5 ปี สปส. วางแผนจะกันเงินราว 10% ของพอร์ตไว้เพื่อเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5% โดยจะแบ่งเข้าลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 2% โครงสร้างพื้นฐาน 2% และที่เหลืออีก 1% จะเป็น การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นในจังหวะที่มีการปรับตัวผันผวนขณะนี้ สำหรับนักลงทุนสถาบันถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน เบื้องต้นแนะนำให้เข้าลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF จะปลอดภัยกว่า" นายวินกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ทันหุ้น  วันที่ 26 กันยายน 2556