ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกสบาย ความถูกต้องแม่นยำ และความรวดเร็ว ซึ่งการสาธารณสุขก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลได้ปรับเปลี่ยนระบบภายในต่างๆ จากระบบในรูปแบบกระดาษมาเป็นระบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เวชระเบียน ซึ่งเป็นเอกสารทางการแพทย์ที่ใช้บันทึกและรวบรวมประวัติของผู้ป่วย ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการรักษา และประวัติการแพ้ยา โดยโรงพยาบาลมีการจัดเก็บเอกสารเวชระเบียนให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย รวมไปถึงใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยการส่งข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์ระหว่างโรงพยาบาล

โรงพยาบาลในประเทศไทยมีการจัดเก็บเวชระเบียนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตแต่บ่อยครั้งที่โรงพยาบาลประสบปัญหาในการรับส่งข้อมูลในกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีระบบสารสนเทศที่แตกต่างกัน ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อไม่สามารถอ่านข้อมูลที่ส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำให้โรงพยาบาลที่รับการส่งต่อต้องเสียเวลาในการแปลงข้อมูล หรือต้องติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลที่ไม่สามารถอ่านได้ ซึ่งหากปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาอย่างรุนแรงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ เพียงเพราะโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อไม่สามารถอ่านข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ส่งต่อผู้ป่วย ทำให้ไม่ทราบข้อมูลการรักษาที่ควรระวังเป็นพิเศษ

จากปัญหาดังกล่าว มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการการรับส่งข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ แต่เพื่อให้ทุกระบบในโรงพยาบาลสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งนี้การสร้างมาตรฐานของข้อมูลไม่ได้เป็นการบังคับให้ทุกโรงพยาบาลต้องมีระบบการเก็บข้อมูลและระบบการทำงานที่เหมือนกันทุกประการ ตรงกันข้ามการกำหนดมาตรฐานของข้อมูลให้ถือปฏิบัติเหมือนกัน เป็นการให้อิสระแก่หน่วยงานแต่ละแห่งในการทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ใช้ซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ผลสุดท้ายทุกโรงพยาบาลจะบันทึกข้อมูลด้วยรหัสที่มีความหมายอย่างเดียวกันและจัดรวบรวมตัวแปรต่างๆ ที่กำหนดในข้อมูลชุดที่เป็นมาตรฐานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556