วิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบันมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ จากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป การสูบบุหรี่และดื่มสุรา รวมถึงขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอในแต่ละวัน เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด "โรคไม่ติดต่อ" (Noncommunicable diseases : NCDs ) ที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และโรคเบาหวาน บางครั้งเรียกว่าเป็น "โรคที่สะสมจากการกินการอยู่" หรือ "โรควิถีชีวิตสมัยใหม่" นับเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน พบคนไทยเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยโรคหัวใจขาดเลือด มีผู้เสียชีวิตกว่า 35,000 รายต่อปี โรคเบาหวาน 28,000 รายต่อปี และ โรคมะเร็งตับ 25,000 รายต่อปี
ขณะที่ข้อมูลจำนวน "ผู้ป่วยใน" ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ โรคความดันโลหิตสูงมีถึง 1 ล้านคน เพิ่มจากปี 2543 ที่มีเพียง 1.4 แสนคน, โรคเบาหวาน จำนวน 6.7 แสนคน เพิ่มจากปี 2543 ที่มี 1.4 แสนคน, โรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 2.2 แสนคน จากปี 2543 ที่มีประมาณ 6 หมื่นคน
ส่งผลทำให้ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อที่สำคัญเป็นจำนวนมาก อาทิ โรคมะเร็งสูงถึง 55,605 ล้านบาท โรคหลอดเลือดสมอง 41,056 ล้านบาท โรคเบาหวาน 32,444 ล้านบาท และโรคถุงลมโป่งพอง 12,735 ล้านบาท
องค์การสหประชาชาติ (UN) มีการจัดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเฉพาะประเด็นเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ขึ้นในเดือนกันยายน 2554 พร้อมประกาศ ปฏิญญาการเมืองว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และจัดทำแผนปฏิบัติการระดับโลกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในปี พ.ศ. 2556-2563
ต่อมาที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 66 พ.ศ. 2556 เห็นชอบกรอบตัวชี้วัดและเป้าหมายระดับโลก ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 25 ตัวชี้วัด และมีตัวชี้วัดที่มีเป้าหมายอยู่ 9 เป้าหมาย เพื่อบรรลุให้ได้ภายในปี 2568 แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1. อัตราการตายและอัตราการป่วย 2. ปัจจัยเสี่ยง และ 3. การจัดระบบบริการระดับชาติ นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia region, SEAR) ได้มีการรับรองตัวชี้วัดเพิ่มเติมอีกหนึ่งรายการ ได้แก่ มลพิษทางอากาศในครัวเรือน (Indoor pollution)
การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทยในปัจจุบัน มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายเครือข่ายทำงาน แต่ยังพบว่าทิศทางการทำงานยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติการร่วมกันในระดับประเทศที่เป็นเอกภาพให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง
ในการประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 ภายใต้แนวคิด "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) เล็งเห็นความสำคัญและได้นำเสนอ "กรอบการดำเนินงาน ประเมินผล การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ" เข้าเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อที่คุกคามสุขภาพของประชากรโลกรวมถึงคนไทยมากขึ้น
แนวทางที่สำคัญ ประกอบด้วย การรับรองตัวชี้วัดและเป้าหมายทั้ง 9 รายการ ที่ได้ปรับจากตัวชี้วัดและเป้าหมายระดับโลก รวมทั้งแหล่งข้อมูล วิธีการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวัดและติดตามความก้าวหน้า ให้เป็นของประเทศไทย และให้มีการดำเนินการติดตามตั้งแต่บัดนี้
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและทุกระดับ โดยเฉพาะ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขให้การสนับสนุนการดำเนินการของทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามความก้าวหน้าในระดับประเทศ และ ขอให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ โดยการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนและเป้าหมายการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับพื้นที่ เสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติโดยอาจกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดให้มีระบบเฝ้าระวัง และติดตามประเมินความก้าวหน้า และนำมาเสนอเพื่อการรับรองในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ให้พิจารณาบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2556
- 6 views