ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับปรุงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรซึ่งจ่ายให้ ผู้ประกันตนรายละ 1.3 หมื่นบาทต่อการคลอดบุตร 1 คน ว่า จากการที่ตนได้หารือกับนางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ข้อ สรุปว่าสำนักงานประกันสังคมยังคงให้ผู้ประกันตนมีความสะดวกในการเลือกโรงพยาบาล (รพ.) ที่จะคลอดบุตรได้เอง ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจะไม่กำหนดให้ผู้ประกันตนจะต้องไปคลอดบุตรในโรงพยาบาลที่มีบัตรรับรองสิทธิอยู่ แต่สามารถเลือกโรงพยาบาลที่จะไปคลอดบุตรได้อย่างอิสระ ทั้งนี้เมื่อไปคลอดบุตรก็ขอให้แจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่โดยขอให้แจ้งเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตน ด้วย เพื่อที่เมื่อคลอดบุตรแล้วสำนักงานประกันสังคมจะได้ตามไปจ่ายเงินค่าคลอดบุตรให้แก่ ผู้ประกันตนโดยตรงหรือเรียกว่าเป็นการจ่ายเงินข้างเตียง หลังจากนั้นผู้ประกันตนก็นำเงินไปจ่ายค่าคลอดบุตรให้แก่โรงพยาบาลเอง ซึ่งแนว ทางนี้สำนักงานประกันสังคมจะเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นเดือนมกราคม  2557 จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

"ผมได้จัดทำรายงานสรุปแนวทางการปรับปรุงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรเสนอต่อเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคมและนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรง งานไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมจะเร่งจัดทำแนวปฏิบัติการดำเนินการ อีกทั้งจะทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคมในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ โรงพยาบาล ในระบบประกันสังคม รวมไปถึงโรงพยาบาลในสังกัดอื่น ๆ เพื่อที่จะได้มีการปฏิบัติที่ตรงกันเป็นการป้องกันปัญหากรณีผู้ประกันตนไปคลอดบุตรแล้วโรงพยาบาลโดยเฉพาะเอกชนไม่รับทำคลอด เนื่องจากเกรงว่าผู้ประกันตนจะไม่มีเงินจ่าย ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเพราะอาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์นั้นไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลอยู่แล้ว โรงพยาบาลที่ให้การรักษาสามารถยื่นเรื่องเบิกเงินจาก สปสช. ได้" นพ.สุรเดช กล่าว

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--