ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาคมสาธารณสุข ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เป็นการประชุมประชาคมสาธาณสุข ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมต่าง ๆ

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 16 ชมรม ดังนี้ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ชมรมรองบริหารโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ชมรมนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลชุมชน ชมรมเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมเทคนิคการแพทย์ชุมชน ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย

ร่วมกันจัดทำข้อเสนอต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประชาชนในชาติ สิ่งที่เป็นหลักการคือ เราจะก้าวข้ามความแตกแยก การเลือกฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตรงกันที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศไทยและการเมือง คือ

1. ระยะสั้น เรื่องของกติกาการเลือกตั้งต้องแก้ไขโดยเร็ว ที่จะให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม

2. มีการวางระบบการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะเน้นกลไกการตรวจสอบ การทุจริตคอร์รัปชั่น

3. ต้องมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทยก่อนการเลือกตั้งโดยต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบสำนักนายกฯ หรือพระราชกำหนดก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์จากข้อสรุปในเรื่องของการปฏิรูป จะต้องผูกมัดกระบวนการนิติบัญญัติและกระบวนการบริหารในอนาคต ภายใต้การลงนามสัตยาบันของพรรคการเมืองทุกพรรคว่าหลังจากได้มีการปฏิรูปชัดเจนแล้วให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในกฎกติกาใหม่ดังที่มีการปฏิรูป

4. สร้างกลไกของประชาคมสาธารณสุข เพื่อติดตามการปฏิรูปให้เป็นไปตามข้อตกลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการกำกับติดตามให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในระบบ ทั้งในระยะสั้นโดยชาวสาธารณสุขและ อสม.ในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และในระยะยาวจะสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในการบริหารจัดการภายในกระทรวงสาธารณสุขทั้งในการบริหารงบประมาณและการบริหารงานบุคคล