ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

26 ธันวาคม 2556 ชมรมแพทย์ชนบท โดยนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมออกแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีเหตุปะทะบริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงนั้น ชมรมแพทย์ชนบทมีความเห็นว่า สะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพและไม่ได้ดำเนินการควบคุมการชุมนุมตามแนวทางสากล ซึ่งทางรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าว แนวโน้มของความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลรักษาการลาออก ความขัดแย้งต่างๆจะลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจะมีทางออกอย่างไม่สูญเสีย

อย่างไรก็ตาม การมีตำรวจเองก็ได้มีการสูญเสียจากการถูกยิงที่หน้าอกนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ชมรมแพทย์ชนบทเองก็เสียใจต่อทุกการสูญเสีย และขอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพี่น้องตำรวจมีความอดทนอดกลั้น ขอให้ถอนกำลังหากมีแนวโน้มของการสูญเสียหรือความรุนแรงที่ชัดเจน ไม่มีประโยชน์ใดๆที่จะเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลที่หมดความชอบธรรมไปแล้วของรัฐบาลชุดนี้

 

 

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท วันที่ 26 ธันวาคม 2556

ต่อกรณีความรุนแรงและการบาดเจ็บเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการปะทะในบริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง

สืบเนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ กกต.ใช้รับสมัครการเลือกตั้งแบบ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ จนเกิดควาสูญเสียทั้งสองฝ่าย มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัสมากจำนวน 2 ราย คือ ผู้ชุมนุม 1 รายที่ถูกยิงที่ศีรษะจากปลอกแก๊สน้ำตา และผู้ชุมนุมอีกรายถูกยิงที่หน้าอกทะลุกระบังลม และมีตำรวจเสียชีวิต  1 รายซึ่งถูกยิงที่หน้าอก  รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากกว่า 95 ราย ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทุกชีวิตมีค่าเกินกว่าที่จะมาบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทมีข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ที่สะท้อนถึงการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นการควบคุมการชุมนุมที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ กล่าวคือ

1.รถกระบะพยาบาลของอาสาพยาบาลกองทัพธรรม และรถกระบะของกองทัพธรรมที่ใช้ขนเวชภัณฑ์ไปดูแลช่วยเหลือผู้ชุมนุม ถูกตำรวจทุบทำลายจนกระจกแตก ตัวถังรถบุบ รวมทั้งเวชภัณฑ์ถูกรื้อทำลาย ซึ่งไม่ใช่วิสัยที่ควรจะเป็นของการควบคุมการชุมนุม เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักจริยธรรมพื้นฐานของสังคม ที่หน่วยแพทย์พยาบาลต้องได้รับการเคารพให้สามารถทำหน้าที่ดูแลผู้บาดเจ็บได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งใดๆ

2.ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ กะโหลกแตก สมองบางส่วนไหลออกมานั้น เกิดจากการถูกกระแทกรุนแรงจากปลอกแก๊สน้ำตาที่ยิงออกมา โดยวิถีการยิงเป็นการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการควบคุมการชุมนุมที่ต้องยิงขึ้นฟ้า ซึ่งการยิงขึ้นฟ้าจะลดโอกาสในการบาดเจ็บจากปลอกที่เป็นโลหะได้มากกว่า

3.ผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการยิงด้วยกระสุนจริง ซึ่งไม่ตรงกับหลักการควบคุมการชุมนุมตามที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวอ้าง  การใช้กระสุนจริงยิ่งทำให้มวลชนเกิดความโกรธแค้นมากขึ้นและนำไปสู่การปะทะตะลุมบอนที่นำไปสู่การสูญเสีย

4.จากการควบคุมการชุมนุมในครั้งนี้ มีพยาบาลอาสาได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง  เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกู้ภัย ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริง รวมทั้งมีผู้สื่อข่าวอีกจำนวนหนึ่งที่บาดเจ็บจากกระสุนยางด้วย ทั้งๆที่กลุ่มวิชาชีพดังกล่าวใส่ปลอกแขนชัดเจนเพื่อบ่งบอกสถานะ ซึ่งมีความจำเป็นตามวิชาชีพที่ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือรายงานข่าว แต่การยิงกราดของตำรวจโดยไม่มีการเลือกเป้าหมาย ไม่ใช่การควบคุมการชุมนุมที่ควรจะเป็น

จากปรากฎการณ์ทั้ง 4 ประการที่สะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพและไม่ได้ดำเนินการควบคุมการชุมนุมตามแนวทางสากล ซึ่งทางรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าว แนวโน้มของความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลรักษาการลาออก ความขัดแย้งต่างๆจะลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจะมีทางออกอย่างไม่สูญเสีย

อย่างไรก็ตาม การมีตำรวจเองก็ได้มีการสูญเสียจากการถูกยิงที่หน้าอกนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ชมรมแพทย์ชนบทเองก็เสียใจต่อทุกการสูญเสีย และขอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพี่น้องตำรวจมีความอดทนอดกลั้น ขอให้ถอนกำลังหากมีแนวโน้มของการสูญเสียหรือความรุนแรงที่ชัดเจน ไม่มีประโยชน์ใดๆที่จะเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลที่หมดความชอบธรรมไปแล้วของรัฐบาลชุดนี้

นายแพทย์เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท