ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -หลังรัฐบาลยุบสภา ในแวดวงสาธารณสุขไทยคงต้องขบคิดกันใหม่อีกมาก เพราะหลายนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีอันต้องพับ อันได้แก่ นโยบายของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่ต้องการบริหารกระทรวงสาธารณสุขแนวใหม่ โดยเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ให้เกินความจำเป็น โดยเฉพาะการปรับระเบียบค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และกรณีค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance: P4P) ที่หวังเพิ่มงานเพิ่มเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ใกล้แล้วเสร็จ เพราะถึงขนาดมีการจัดทำเป็นร่างระเบียบฉบับใหม่และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กันแล้ว

เมื่อร่างระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ถูกพับไปโดยปริยาย กลายเป็นว่า ทุกวิชาชีพต้องกลับมาใช้ประกาศการเยียวยาผลกระทบที่ยังไม่สามารถออกประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ สธ.ได้จัดทำไว้

ส่วนประกาศค่าตอบแทนจะออกมาในรูปแบบใดนั้น คงต้องรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อ ขณะที่เรื่องการบรรจุข้าราชการ สธ. ที่ทางกลุ่มวิชาชีพพยาบาลเคยเรียกร้องมาตลอดนั้น ครม.เคยมีมติอนุมัติให้บรรจุตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 22,641 อัตรา ภายในระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2556-2558) โดยให้อัตราปีละประมาณ 7,547 อัตรา ซึ่งในปี 2556 ได้มีการบรรจุไปแล้วเหลือเพียงปี 2557 และปี 2558 แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเดินหน้าได้เช่นกัน

ไม่เพียงพิษยุบสภาส่งผลต่อนโยบายสาธารณสุขที่เกี่ยวพันกับทุกวิชาชีพทางการแพทย์เท่านั้น แต่ปัญหาของรัฐบาลรักษาการ และสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมประท้วงกันอยู่ขณะนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาการเมืองภายในกระทรวงสาธารณสุขด้วย โดยก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้าราชการประจำหวาดกลัวฝ่ายการเมือง ต้องปฏิบัติคล้อยตามทุกสิ่งอย่าง แต่จากสถานการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อก็ทำให้หลายคนมองว่า ข้าราชการประจำเริ่มสวนทางการเมืองแล้ว เห็นได้จากเดิมที่มีประชาคมสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมต่างๆ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสหสาขาวิชาชีพต่างๆ ออกแถลงการณ์ ขอให้จัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง โดยต้องมีกฎหมายรองรับชัดเจน ขณะที่ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ของ สธ.เข้าร่วมเป็นจิตอาสาในกลุ่มมวลชน กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ด้วย

กระนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หลังจากประชาคมสาธารณสุขออกแถลงการณ์ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ไม่นานนัก ผู้บริหารกรมต่างๆ ใน สธ. และชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (อสม.) ก็ออกแถลงการณ์ขัดกันเองอีกว่า ให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมไปถึงสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็กลับออกแถลงการณ์สนับสนุนการเลือกตั้ง สวนทางกับแถลงการณ์ประชาคมสาธารณสุขที่มีปลัด สธ.เป็นแกนนำอย่างสิ้นเชิง งานนี้ไม่วายนำไปสู่ประเด็นว่า มีการล็อบบี้จากฝ่ายการเมืองให้ออกแถลงการณ์ลักษณะขัดกันเอง

ไม่เพียงเท่านี้ ยังลุกลามเกิดความขัดแย้งของหมอในการชุมนุมกลุ่ม กปปส.จากกรณีการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีบางฝ่ายมองว่าการทำงานในพื้นที่ชุมนุมของแพทย์ สธ. ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ทั้งๆ ที่ สธ.มีบุคลากรทางการแพทย์ครบ ร้อนถึงแพทย์อาสาสมัครจากหลากหลายหน่วยงาน รวมไปถึงกลุ่มแพทย์ชนบทที่มาจากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่ สธ.เองก็ให้เหตุผลว่า การทำงานในกลุ่มผู้ชุมนุมแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ 1.การแพทย์ฉุกเฉิน เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ. ศูนย์เอราวัณ และมูลนิธิต่างๆ ทั้งมูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กับเครือข่ายแพทย์โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทำงานในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินออกจากพื้นที่ชุมนุม หรือพื้นที่ปะทะ เพื่อนำไปรักษาต่อ 2.การดูแลในกลุ่มผู้ชุมนุม จะเป็นแพทย์อาสาที่เข้าร่วม ซึ่งก็มีแพทย์ของโรงพยาบาลสังกัด สธ.เช่นกัน โดย สธ.จะไม่ได้ส่งทีมเข้าไปโดยตรง แต่พร้อมให้การสนับสนุน ให้ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ

ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวมีการกระจายผ่านสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง จนเกิดคำถามว่า กระทรวงหมอมีปัญหาขนาดนี้แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร เพื่อให้การบริการผู้ป่วยดียิ่งขึ้นจากนโยบายปฏิรูป หรือโครงการเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาสาธารณสุขจะเดินหน้าหรือไม่

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. บอกว่า นโยบายในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยยังคงเดินหน้าตามปกติ เพราะถึงแม้ไม่มีปัญหาทางการเมือง หรือจะมีปัญหาใดๆ ก็ตาม สธ.ในฐานะกระทรวงดูแลสุขภาพทุกคนย่อมต้องเดินหน้านโยบายพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น ส่วนจะเรียกว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์หรือไม่ ไม่ทราบ เพราะอย่างไรเสียก็เป็นแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยของ สธ. อยู่แล้ว โดยจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 2557-2559) ซึ่งการของบประมาณดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์นั้นจะขอเป็นรายปีอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ไม่มีปัญหาในการดำเนินการ

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การปฏิรูป สธ. ยังคงเดินหน้า โดยขณะนี้มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ปฏิรูปกระทรวงให้เป็นกลไกด้านสุขภาพของชาติ 2.ปฏิรูปสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมต่างๆ ให้ทำงานตามบทบาทและลงลึกมากขึ้น และ 3.ปฏิรูปการทำงานในส่วนของภูมิภาคผ่านรูปแบบการจัดเขตบริการสุขภาพ 12 เขตพื้นที่ ซึ่งมีการขับเคลื่อนมาประมาณ 1 ปี แต่ยังคืบหน้าไม่มากนัก เพราะต้องใช้เวลา 5-10 ปี

นอกจากนี้ จะมีการผลักดัน "ศูนย์สาธารณสุขระดับชาติ" (National Health Information Center) เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รับรองแล้ว และกำลังส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา อยู่ระหว่างดูรายละเอียดต่างๆ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพแห่งเดียวของประเทศ คือไม่ว่าประชาชนจะไปใช้บริการที่ไหนก็ตามข้อมูลจะเข้ามา ณ จุดนี้ตลอด ซึ่งจะทำให้ข้อมูลสุขภาพเป็นระบบมากขึ้นว่า คนไทยเจ็บป่วยอย่างไร แต่ละกองทุนมีผู้ป่วยใดบ้าง เป็นต้น โดยทั้งหมดจะนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการบริการในโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการทำงานเชิงรุกดูแลประชาชนให้สุขภาพดีด้วย

ไม่ว่าการเมืองภายในกระทรวงหมอจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญนโยบายการพัฒนาการบริการต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง อย่าให้อคติใดๆ หรือใครก็ตาม มากระทบการทำงานที่ส่งผลต่อประชาชนเลย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 ธันวาคม 2556