ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTVผู้จัดการรายวัน -ระบบการดูแลสุขภาพของบรรดาลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ห้างร้านต่างๆ ฯลฯ ล้วนต้องสู่ระบบกองทุนประกันสังคม ซึ่งดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)กระทรวงแรงงาน โดยกองทุนนี้ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบร่วมกับภาครัฐ เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีกระแสเสียงว่า ไม่ค่อยจะยุติธรรมกับผู้ประกันตนสักเท่าไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ประกันตนจะต้องร่วมจ่าย เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะด้อยกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้คนไทยที่ไม่อยู่ในสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ได้เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่ต้องร่วมจ่ายทุกเดือนอะไรทั้งนั้น

ยิ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเน้นเรื่องการบูรณาการสามกองทุน ก็ยิ่งทวีความไม่พอใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตน

ดร.อำมร เชาวลิต  เลขาธิการสปส. ระบุว่า สิทธิประโยชน์ของ สปส.ก็มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นตลอดมา อย่างปี 2556 มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์หลายเรื่องอาทิ เพิ่มค่าฟอกเลือดจากเดิมไม่เกิน3,000 บาทต่อสัปดาห์ เป็นไม่เกิน 4,500 บาทต่อสัปดาห์ สนับสนุนค่ายารักษาโรคมะเร็งจากเดิม 7 กลุ่มโรค เป็น 10 โรค ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีการให้ยาต้านไวรัส และปรับปรุงการใส่อุปกรณ์เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ประกันเข้าถึงสิทธิการรักษาได้มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับปี 2557 นั้น ดร.อำมรอธิบายว่า สปส.จะดำเนินการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

1.เพิ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ตับ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ปอด ตับอ่อน การปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อวัยวะขึ้นไป

2.เพิ่มสิทธิประโยชน์การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยเนื่องจากยาเสพติด

3.ปรับปรุงรายการและอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทุพพลภาพและกรณีสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน ซึ่งจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในจำนวนเงินที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของกองทุนเงินทดแทนโดยขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2557 คือ

4.ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานในแต่ละระดับ โดยปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานจากเดิม จ่าย 45,000 บาท เป็น50,000 บาท กรณีบาดเจ็บเนื่องจากงาน ขั้นรุนแรงปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 500,000 บาทแต่หากยังไม่เพียงพอสามารถยื่นขอเพิ่มจากคณะกรรมการการแพทย์กองทุนเงินทดแทนได้ โดยรวมแล้วไม่เกิน1,000,000 บาท จากเดิมสูงสุดไม่เกิน300,000 บาท

และ 5.ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพลูกจ้างที่พิการเนื่องจากการทำงาน ทั้งด้านการแพทย์และด้านอาชีพ โดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพและด้านการแพทย์จากเดิม สปส.กำหนดค่าใช้จ่ายรวมกันไม่เกิน 20,000 บาท เป็นแต่ละประเภทค่าใช้จ่ายไม่เกิน24,000 บาท, เพิ่มค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์การฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จากเดิมไม่เกิน 20,000 บาทเพิ่มเป็นไม่เกิน 40,000 บาท และในกรณีที่จำเป็นต้องบำบัดรักษาและผ่าตัดเกินกว่า 40,000 บาท ให้จ่ายเพิ่มอีกรวมกันแล้วไม่เกิน 150,000 บาท และสุดท้ายการปรับเพิ่มค่าอวัยวะเทียม ค่าอุปกรณ์เสริมไม่เกินอัตราตามที่ สปส.กำหนด รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาทซึ่งจากเดิมกำหนดค่าใช้จ่ายรวมกันกับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพไม่เกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้นายจ้างด้วย เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า ขณะนี้ได้พิจารณาและปรับปรุงรหัสประเภทของกิจการใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้กำหนดแผนดำเนินงานปรับปรุงการกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงตามรหัสประเภทกิจการใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 เพื่อที่จะได้ใช้อัตราเงินสมทบอัตราใหม่สำหรับการจัดเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจากนายจ้างได้ทันในปี2558

ส่วนการลงทุนเงินกองทุนในปี2557 ดร.อำมร เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยรุ่งเรืองนัก จากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยปี2556 บอร์ดประกันสังคมมีความเห็นชอบที่จะยังคงสัดส่วนในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในอัตราเท่าเดิมคือ 7-12%และทยอยลงทุนในต่างประเทศในสัดส่วนไม่เกิน 4% ซึ่งจะเป็นการลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางเลือกซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างมั่นคงในระยะยาว ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานสินค้าโภคภัณฑ์ และทองคำ โดยเป็นการกระจายลงทุนทั้งในและต่างประเทศคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 45,000 ล้านบาท จากปี2556 ที่ได้ผลตอบแทนทั้งสิ้น 37,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40ให้มากขึ้นเพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตและมีเงินออมไว้ใช้จ่ายในยามชราภาพด้วย

"ดิฉันและผู้บริหาร สปส.เห็นตรงกันว่า ต่อไปในอนาคต สปส.น่าจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นองค์การมหาชนเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุนที่มีเงินสะสมกว่า1ล้านล้านบาทแต่ก็ทำได้ยากเพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)และติดขัดในแง่กฎหมายโดยคณะกรรมกฤษฎีกาเคยพิจารณาไว้ว่า องค์การมหาชนส่วนมากเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ แต่ สปส.เป็นหน่วยงานให้บริการและสิ่งที่ สปส.เคยทำ เช่นการยึดทรัพย์สินนายจ้างที่ค้างจ่ายเงินสมทบและนำออกจำหน่ายเพื่อนำมาใช้หนี้กองทุน จะไม่มีอำนาจทำเช่นนี้ได้อีกเพราะองค์การมหาชนไม่มีกฎหมายให้อำนาจเช่นนี้ไว้"

ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ในอนาคตน่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปีมีสิทธิเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 เป็นปีแรกก็ได้ส่งแบบสำรวจความเห็นผู้ประกันตนว่าอยากจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญซึ่งคาดว่าสำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะสรุปผลสำรวจนี้ได้ในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งหลังจากนี้ตนในฐานะประธานบอร์ด สปส.จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือในบอร์ดว่าควรจะแก้ไขกฎหมายประกันสังคม โดยเพิ่มเติมเข้าไปว่าให้สิทธิผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี เลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ หากบอร์ดเห็นด้วยต้องแก้ไขกฎหมายประกันสังคมต่อไป ทว่าเรื่องนี้คงอีกยาวนาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 30 ธันวาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง