ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจการเข้าถึงเหล้าในวันสิ้นปี 2556 พบว่าแม้ผู้ค้าจะรู้ว่าผิดกฎหมายควบคุมเหล้ามากถึงร้อยละ87 แต่ยังกระทำผิดเพราะต้องการมีรายได้ โดยผลการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมเหล้าและกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ใน 6 จังหวัด รวม 6 วัน ลงโทษผู้กระทำผิดจำนวนรวม 154 ราย ประกอบด้วยกระทำผิดกฎหมายเหล้า 98 ราย ผิดกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่  56 ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร จุดที่พบคือไม่ติดป้ายห้ามสูบและยังมีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

วันนี้ (2 ม.ค.) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่นี้ คร.ได้มอบหมายให้สำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสำนักโรคไม่ติดต่อ สุ่มสำรวจการขายสุราในสถานที่ห้ามขายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยสำรวจในสถานที่ห้ามขาย 2 แห่ง คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและสวนสาธารณะ และสุ่มสำรวจการขายในเวลาห้ามขายตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้ขายสุราได้ในช่วงเวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.ทั้งนี้ เพื่อประเมินความยากง่ายในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 ช่วงคือวันที่ 27 ธ.ค. 2556 และวันที่ 31 ธ.ค. 2556 ใน 19 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี พิจิตร พิษณุโลก นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง และพัทลุง
       
นพ.นพพร กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจในวันที่ 31 ธ.ค. 2556 ปั๊มน้ำมันทั้งหมด 566 แห่ง พบการกระทำผิด 7 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1 โดยพบบนถนนสายหลัก 4 แห่ง ลดลงจากการสำรวจในรอบแรกร้อยละ 2 และบนถนนสายรอง 3 แห่ง ลดลงจากรอบแรกร้อยละ 4 และสำรวจสวนสาธารณะ 50 แห่งพบการกระทำผิด 1 แห่ง ลดลงจากการสำรวจรอบแรกร้อยละ 3 ส่วนการขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย สำรวจทั้งหมด 2,313 แห่ง พบการกระทำผิด 20 แห่ง ลดลงจากการสำรวจรอบแรกร้อยละ 3 โดยพบการกระทำผิดบนถนนสายหลัก 11 แห่ง และพบในถนนสายรอง 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1 เหตุผลการกระทำผิดทั้ง 2 ประเภท คือไม่ทราบกฎหมายร้อยละ 13 ลดลงจากการสำรวจรอบแรกที่พบร้อยละ 24 และอีกร้อยละ 87 รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมากกว่าการสำรวจรอบแรกที่พบร้อยละ 76 โดยให้เหตุผลว่า ต้องการมีรายได้มากถึงร้อยละ 59 รองลงมาให้เหตุผลว่า ไม่ได้ตั้งโชว์ให้เห็นแต่สามารถขอซื้อได้ตลอดร้อยละ 24 กลัวเสียลูกค้าประจำซึ่งเท่ากับคิดว่าไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังร้อยละ 9
       
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คร.กล่าวว่า ผลการออกตรวจสอบการจำหน่ายเหล้าในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งปีนี้ตรวจควบคู่ไปกับการควบคุมการบริโภคยาสูบ ผลการตรวจตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2556 - 1 ม.ค. 2557 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เลย ลำพูน และเชียงใหม่ โดยตรวจสอบการจำหน่ายเหล้าทั้งหมด 264 ราย พบการกระทำผิดและได้ดำเนินคดีจำนวน 98 ราย จากการกระทำผิดตามกฎหมายในฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คือ 1.การโฆษณา สื่อสารการตลาด จำนวน 67 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกโฆษณา 2.การขายด้วยวิธีการต้องห้าม เช่น ลดแลกแจกแถม ชิงโชคชิงรางวัล เป็นต้น จำนวน 24 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายในสถานที่ต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ขายในร้ายขายยา ขายในสวนสาธารณะ ปั้มน้ำมัน จำนวน 9 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 4.ขายให้บุคคลอายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 2 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ผู้กระทำผิด 1 รายอาจจะทำผิดหลายฐานความผิด
       
“สำหรับผลการตรวจสอบผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่พ.ศ.2535 ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2556 - 1 ม.ค. 2557 พบจำนวน 56 ราย ฐานความผิดดังนี้ คือไม่จัดสถานที่สาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ พบมากที่สุดคือร้านอาหาร เช่นไม่ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ และยังมีการสูบบุหรี่ในห้องที่มีไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งตามกฎหมายนั้น ร้านอาหารทั้งบริเวณที่อยู่ในห้องปรับอากาศและบริเวณภายนอกที่มีการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ต้องจัดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดรายละ 20,000 บาท” นพ.สมานกล่าว