ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ปลัดณรงค์" แต่งชุดกากี แสดงตนเป็นข้าราชการ นั่งประธานประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์ชุมนุมการเมือง ห่วง 3 จังหวัดเสี่ยงปะทะ ยันช่วยเหลือประชาชนแบบไม่เลือกข้าง ไม่แบ่งฝ่าย พบชายวัย 64 ช็อกเบาหวานตายคาม็อบราชบุรี เหตุขาดยา ด้าน รพ.ราชวิถีไม่กระทบ กปปส.ตั้งเวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ชุมนุมช่วยโบกรถเข้าโรงพยาบาล

เวบไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (13 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สวมชุดข้าราชการสีกากี ร่วมประชุมวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างผู้บริหาร สธ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มสนับสนุนและคัดค้าน กปปส. ออกมาชุมนุมในสถานที่ต่างๆ ซึ่งภายในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการเปิดเพลง "จำขึ้นใจ" ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับข้าราชการด้วย

ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือประชาชนมีการเตรียมพร้อมและทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ มีการแยกการทำงานที่ชัดเจน โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีการชุมนุมทางการเมือง (ส่วนหน้า) มี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นผู้สั่งการ ส่วนการสั่งการในภูมิภาคและเคลื่อนย้ายทีมสนับสนุน มี นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน เป็นผู้สั่งการ และคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์และสนับสนุน ที่ สธ. มี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. เป็นประธาน โดยจะมีการประชุมต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งได้ติดตามและประเมินสถานการณ์มาแล้ว 2 เดือน

“การทำงานเป็นไปด้วยจริยธรรมและไม่เลือกข้าง โดยโรงพยาบาลทุกแห่งยังคงให้บริการประชาชนตามปกติ ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์และการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า คณะทำงานทั้ง 3 ชุดดังกล่าวเป็นการแต่งตั้งเพื่อให้การทำงานกระชับชัดเจนขึ้นจากทีมทำงานที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 เดือน โดยทั้งหมดไม่ได้ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการดูแลประชาชน ที่มี นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ. เป็นประธาน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการดูในเรื่องนโยบาย จากการติดตามสถานการณ์ในภูมิภาค พบว่า มี 3 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ พิษณุโลก และ พระนครศรีอยุธยา มีกลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่ายออกมา ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง ทำให้จะต้องมีการประเมินและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกชั่วโมง โดยขณะนี้การเตรียมทีมทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั้งหมด 18 จังหวัด โดยมีทีมสนับสนุนแบ่งเป็นชั้นนอกและชั้นใน ที่เตรียมพร้อมให้การสนับสนุน และประสานกับกทม. ด้วย ทั้งนี้ ยังเตรียมแผนสำรองกรณีเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น โดยประสานกรมแพทย์ทหาร ทหารเสนารักษ์ จำนวน 12 ทีม เพื่อช่วยในเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วย

ด้าน นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า ตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมือง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 286 ราย และยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 15 ราย เสียชีวิต 3 รายเช่นเดิม ส่วนกรณีผู้ชุมนุมเสียชีวิตระหว่างการชุมนุม 1 ราย ที่ จ.ราชบุรี เป็นชาย อายุ 64 ปี หน่วยกู้ชีพได้นำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเนื่องจากอาการช็อก ซึ่งพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน คาดว่าผู้เสียชีวิตอาจไม่ได้กินยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาการกำเริบจนเกิดอาการช็อก จึงขอให้ประชาชนที่มีโรคประจำตัวทานยาตามเวลาด้วย

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่าเส้นทางลำเลียงผู้ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ที่การชุมนุม ที่ยังน่าจะเป็นปัญหา คือ จุดการชุมนุมบริเวณแจ้งวัฒนะ และ ถนนพหลโยธิน แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องเพราะการเคลื่อนไหวยังไม่นิ่ง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจเส้นทางพร้อมการติดตามผ่านกล้องวงจรปิดในจุดต่างๆ เพื่อเตรียมเส้นทางลำเลียงผู้ป่วยไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีการตั้งเวทีใกล้กับโรงพยาบาลราชวิถี จะกระทบต่อการขนส่งผู้ป่วยหรือไม่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมาอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่กระทบ เนื่องจากตนได้รับรายงานจาก นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ว่า ผู้ชุมนุมได้เข้ามาช่วยดำเนินการโบกรถบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาโรงพยาบาล แต่หากมีผู้เดินทางมาโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ก็จะให้เข้าทางซอยโยธีแทน อย่างไรก็ตาม รพ.ราชวิถีได้มีการตั้งเต็นท์หน้าโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ป่วยด้วย

ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามกรณี นพ.ณรงค์ แสดงจุดยืนผ่านประชาคมสาธารณสุข ทำให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เรียกเข้าพบและสอบสวนนั้น นพ.ณรงค์ กล่าวเพียงว่า ขอไม่ให้ความเห็นทางการเมือง และขอทำงานตามหน้าที่เท่านั้น 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 10 ม.ค. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 33/2556 แต่งตั้งคณะกรรมการดูแลประชาชน ในช่วงสถานการณ์ชัตดาวน์กทม. โดยมีนพ.อำนวย กาจีนะ เป็นประธาน และไม่มีรายชื่อของนพ.ณรงค์ และนพ.วชิระ เป็นกรรมการแต่อย่างใด