ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข (สบรส.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมเขตบริการสุขภาพเบื้องต้น 3 เขต ได้แก่ เขต 4, 5 และ 6 พบว่า ในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 4 มีการวางแผนเพื่อลดความแออัด โดยการพัฒนาศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ขนาดใหญ่และการผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลชุมชน คลินิก NCD มีการบริหารร่วมกันในผู้ป่วยมะเร็ง แต่พบการส่งต่อนอกเขตในสัดส่วนที่สูง

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า เขตบริการสุขภาพที่ 5 มีการลดต้นทุนด้านยาและวัสดุการแพทย์ทำให้ลดต้นทุนได้ดี 2.7-6.3 ล้านบาท ทำให้ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลารอคอย ลดการส่งต่อ ส่วนเขต 6 ผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมบริหารเป็นทีม ให้เขตพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เริ่มมีแผนลดค่าใช้จ่ายยาและวัสดุวิทยาศาสตร์ในภาพรวม ทั้งนี้จะประเมินเขตบริการให้ครบ 12 เขตภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลทำให้ทราบว่า การใช้บริการของผู้ป่วยนอกในกลุ่มโรคทั่วไปใช้บริการอัตราสูงเฉลี่ยร้อยละ 37-46 แต่ละเขตตั้งเป้าลดการรับผู้ป่วยโรคทั่วไปไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ในโรงพยาบาลระดับสูงต้องลด 15% โรงพยาบาลระดับรองลด 25% โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ โรงพยาบาลขนาดเล็กลด 35%

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลประเมิน 3 เขต จะหารือแพทยสภา และราชวิทยาลัยเพื่อเปิดทางให้โรงพยาบาล สธ.ให้บริการภายใต้การควบของ สธ. เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งไม่ทำการผ่าตัด เพราะไม่มีวิสัญญีแพทย์ตามมาตรฐานการรักษาของราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการพัฒนาเขตบริการสุขภาพต้องเดินหน้าไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหาร ประเทศ

อนึ่ง เขตบริการสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง เขตที่ 5 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี และเขตที่ 6 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว และสมุทรปราการ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 17 มกราคม 2557