ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฐานเศรษฐกิจ - กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยพระสงฆ์ร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ชวนคนไทยทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็มป้องกันการเกิดโรค

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เนื่องในวันมาฆบูชาประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง แต่หากไม่ใส่ใจและคำนึงถึงเมนูที่จะนำมา ตักบาตรก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเมนูอาหารที่ไม่หลากหลายและมักประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูงมากเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกินเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจากการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ใน 2554 จำนวน 98,561 รูป พบว่า ร้อยละ 55 ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน พระสงฆ์บางรูปป่วยมากกว่า 1 โรค พระสงฆ์ร้อยละ 5 หรือ 5,381 รูป อยู่ในภาวะอ้วน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการฉันอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เพราะไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ประชาชนที่จะทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ควรเลือกอาหารเมนูชูสุขภาพ ได้แก่ เมนูที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ผักต่าง ๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการขับถ่าย เมนูที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมจืดหรือนมพร่องมันเนย ปลาเล็กปลาน้อย ผัดผักที่มีใบเขียวเข้ม เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย เมนูที่ให้ไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกายซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง และอาหารที่ปรุงนั้นต้องมีรสที่ไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก แต่หากต้องการปรุงอาหารประเภทผัดหรือกะทิก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิแต่น้อย อาทิ เมนูลาบปลา ปลานึ่งผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร ควรมีผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอและเลือกซื้อจากร้านจำหน่วยอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก ใหม่ มีการป้องกันแมลงวัน ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์ หยิบจับอาหารแทนการใช้มือ”

"ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่สะดวกในการเลือกเมนูชูสุขภาพและหันมาพึ่งเครื่องกระป๋อง อาทิ อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ก่อนเลือกซื้อจึงควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียดโดยต้องมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร ชื่อ ที่ตั้ง สถานที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต ชื่อปริมาณวัตถุ เจือปนในอาหาร น้ำหนักสุทธิ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มี รอยรั่วเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา: http://www.thanonline.com