ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ้านเมือง - นักวิชาการเสนอให้เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปสวัสดิการสังคม เดินหน้าประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ พ.ร.บ.สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมปฏิรูปภาษีกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในการเสวนา "ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย" ครั้งที่ 2 เรื่อง "ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคม" ว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคมในประเทศไทยปัจจุบันยังมีอยู่ ขณะที่ภาคการคลังของรัฐบาล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้น้อย จึงเสนอให้เดินหน้าปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดทำ พ.ร.บ.สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมปฏิรูปภาษี เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีแคปปิตอลเกนแท็ก และต้องเดินหน้ากระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นอย่างเร่งด่วนทั้งภาษีและกำลังคน เพื่อให้ท้องถิ่นใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสร้างทุนมนุษย์ในสัดส่วนที่มากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มากกว่าร้อยละ 50

ด้านบริหารจัดการ ควรจัดให้มีหน่วยวิเคราะห์ผลของนโยบายรัฐบาลที่สำคัญ โดยให้เป็นอิสระจากรัฐบาล ด้านการเมือง ประชาสังคม ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของรากหญ้า คนชั้นกลาง ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคม และจัดให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้มีสัดส่วน ส.ส.ในสภาให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ popular vote มากที่สุด และเสนอให้เดินหน้าปฏิรูปสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเรื่องอำนาจหน้าที่และการคัดเลือกสมาชิก และเร่งรัดสื่อให้ช่วยลดมายาคติเรื่องคนจน

นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปสวัสดิการสังคม เนื่องจากปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น การรักษาพยาบาลที่มีการให้บริการรักษาพยาบาลโดยจัดตามบัตรที่ประชาชนถืออยู่ และต้องปฏิรูปโดยเดินหน้าประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ มีการกระจายทรัพยากรด้านสุขภาพที่เป็นธรรม พร้อมปฏิรูปประกันสังคมให้หลุดจากการเป็นหน่วยงานรัฐ ให้มีกรรมการที่รับผิดชอบต่อผู้ประกันตน เป็นต้น

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่เกิดขึ้นบางส่วนเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง หากไม่สกัดกั้นหรือปรับตัวจะเพิ่มขึ้นได้เอง เช่น ความเหลื่อมล้ำภาคเกษตรและภาคอื่น ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานพอสมควร เพราะประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 25-40 ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่รายได้ภาคเกษตร กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดข้อมูลปี 2554 จำนวนเกษตรกรลดลงเหลือร้อยละ 7.7 ของประชากร ซึ่งเป็นสัดส่วนเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ที่ไทยแตกต่างคือประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวนประชากรเท่ากับร้อยละของรายได้ แต่เกษตรกรไทยกลับมีรายได้สุทธิต่ำกว่าภาคอื่นมาก ในระยะยาวหากไม่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ภาคเกษตรกรจะไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลักและเป็นที่พึ่งของประชาชนจำนวนมากได้อีกต่อไป และเกษตรกรจะไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งเกษตรกรเข้าใจสภาพปัญหานี้ดี

ส่วนโครงการประกันรายได้ และโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โครงการเหล่านี้เมื่อสิ้นสุดลง ทำให้กำไรระยะสั้นลดลง เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรจะมีฐานะดีได้เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพอื่นที่รายได้ดีจนไม่สนใจกลับมาเป็นเกษตรกรอีก สำหรับแนวทางปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทย ผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่สนใจ หวังดีกับเกษตรกร ความหาความรู้ ข้อเท็จจริงและปฏิรูปวิธีคิดของตัวเอง เลิกยัดเยียดอุดมการณ์ที่ให้ชาวนา เกษตรกรยึดติดกับภาคเกษตรและปล่อยให้เกษตรกรตัดสินใจเลือกเอง พรรคการเมืองควรเลือกโฆษณาชวนเชื่อ แข่งขันกันว่า พรรคจะสามารถให้ชาวนา เกษตรกรได้ราคาสินค้าเกษตรที่สูงกว่าตลาดมากที่สุด หรือเพิ่มการอุดหนุนเพื่อ "เพิ่มกำไร" ให้ชาวนามากขึ้นเรื่อยๆ ด้าน NGO ควรเลิกมาตรการจูงใจ ให้ประชาชนกลับไปทำอาชีพเกษตร

มาตรการช่วยเกษตรกรควรสนใจความเสี่ยงด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านราคาบ้าง เช่นที่ผ่านมามีประกันภัยผลผลิตที่เชื่อมโยงกับปริมาณน้ำฝน เป็นต้น มาตรการช่วยเกษตรกรบริหารความเสี่ยงด้านราคา ควรเน้นการรับมือกับกรณีที่ราคาตกต่ำจริงๆ และกรณีที่ทำได้ควรให้เกษตรกรร่วมรับภาระด้วย เช่น การขายประกันความเสี่ยงโดยรัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันภัย

นายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจาร์ยคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า เรื่องที่ยังขาดและต้องได้รับการปฏิรูปคือระบบประกันสุขภาพ ยังมีอีก 30 ล้านคนอยู่นอกระบบ แม้มีการออก พ.ร.บ.การออมแห่งชาติที่ออกมาตั้งแต่ปี 2554 ได้รับงบประมาณปี 2555-2556 แต่ไม่ได้ดำเนินการปี 2557 ไม่ได้ดำเนินการจึงเลิกไปแล้ว เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการ นอกจากนี้ จะต้องปฏิรูประบบงบประมาณ เปิดให้หน่วยงานที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสามารถเข้ามาใช้งบประมาณได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557