ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันโภชนาการ และภาคีเครือข่ายโภชนาการสมวัย ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ โดยจัดทำคู่มือมาตรฐานอาหาร เครื่องดื่ม และขนม พร้อมปรับปรุงชุดเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพเพื่อนักเรียนไทยมีโภชนาการสมวัย ก่อนนำไปใช้จริง

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2557) นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิชาการ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำมาตรฐานอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม และการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ (ชุดเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพ) ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัดกรุงเทพมหานคร ว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการอาหารกลางวัน ตามงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจาก 13 บาท เป็น    20 บาท สู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เด็กไทยได้อิ่มอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งสร้างทางเลือกให้กับร้านค้าในการจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐานโภชนาการภายใต้ความร่วมมือของผู้ประกอบการอาหารที่นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ   

มาตรการเร่งด่วนที่กรมอนามัยนำมาใช้ในระยะ 1 ปีแรกคือ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการคุณภาพอาหารในโรงเรียน  เพื่อขับเคลื่อนงาน 2)พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม สำหรับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคใช้เป็นทางเลือกในการจัดการอาหารให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการทั้งในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และชุมชน 3) ผลักดันให้ทุกโรงเรียน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำการประเมินคุณภาพอาหาร และนำผลการประเมินมาพัฒนางานทั้งในระดับปฏิบัติการ และระดับนโยบาย 4) ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป School Lunch Programและคู่มือตำรับอาหาร 5 ภูมิภาค เพื่อใช้ในการจัดเมนูอาหารกลางวัน อาหารว่าง ให้มีปริมาณพลังงานและสารอาหารครบถ้วน 5) ส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกโรงเรียน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งใน – นอกห้องเรียนด้านอาหาร โภชนาการ ออกกำลังกาย ทันตสุขภาพ และอนามัยส่วนบุคคล 6) สนับสนุนให้   ทุกโรงเรียน / ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการเฝ้าระวังและติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก โดยการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงปีละ 2 ครั้ง เด็กกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผอม อ้วน เตี้ย ได้รับการติดตามและเฝ้าระวังทุกเดือน  และแจ้งผลการเฝ้าระวังฯ ให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน และ 7) บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาหารและโภชนาการทุกคน เช่น ผู้บริหาร ครูโภชนาการ ครูอนามัยโรงเรียน/คอมพิวเตอร์ แม่ครัว ผู้ประกอบการอาหาร นักเรียน  ผู้ปกครอง / แกนนำชุมชน ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการอาหารและโภชนาการ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี  และในระยะต่อไปจะดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพอาหารและโภชนาการแบบบูรณาการสู่ความยั่งยืน เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย  

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินงานดังกล่าว มีความคาดหวังให้เด็กนักเรียน ได้กินอิ่มอย่างมีคุณภาพถึง 6 ล้านคน  และภายในปี 2567 จะสามารถลดภาวะอ้วนจากร้อยละ 17 เหลือไม่เกินร้อยละ 11 หรืออย่างน้อยลดลงได้ร้อยละ 0.5 ต่อปีเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิม ภาวะเตี้ย ลดลงจากร้อยละ 18.9 เหลือร้อยละ 5  ภาวะผอม ลดลงจากร้อยละ 9.1 เหลือร้อยละ 7 และส่งเสริมให้เด็กไทยเพศหญิงและเพศชายมีความสูงเฉลี่ย 165 และ175 ซม. ตามลำดับ และมีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 จุด

“การประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงร่างต้นฉบับการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ : ชุดเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนักเรียนไทยมีโภชนาการสมวัย ก่อนจัดพิมพ์ฉบับสมบูรณ์ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการอาหาร ผู้บริโภค นักวิชาการ  และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดทำมาตรฐานอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม เพื่อพัฒนาเป็นคู่มือ/แนวทางสำหรับ ผู้ผลิตอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร และผู้บริโภค รวมทั้งโรงเรียน / ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้นำเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม สำหรับเด็กให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ เพื่อเด็กได้กินอิ่มอย่างมีคุณภาพต่อไป” รองอธิบดีกล่าวในที่สุด