ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก่อนจะเป็น “กระทรวงสาธารณสุข”

จากหนังสืออนุสรณ์สาธารณสุข ครบ 15 ปี ซึ่ง “พระบำราศนราดูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ได้รวบรวมประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่ก่อนยุคก่อนก่อตั้งจนกระทั่งจัดตั้งขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินงานด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการสาธารณสุขของประเทศ    

จุดเริ่มต้นกระทรวงสาธารณสุข เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง “กรมการพยาบาล” ขึ้น เพื่อควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาล พร้อมทั้งมีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ จัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน สันนิษฐานว่า กรมพยาบาลขึ้นตรงต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ ทรงเป็นอธิบดี และต่อมาได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ภายหลังจากพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์สิ้นพระชมม์ และได้เริ่มมี “แพทย์ประจำเมือง” ขึ้น มีการนำยาตำราหลวงออกจำหน่ายในราคาถูก พร้อมทั้งได้ตั้ง “กองแพทย์ป้องกันโรคระบาด”

ต่อมา พ.ศ. 2448 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมพยาบาลและตำแหน่งอธิบดีกรมพยาบาล และให้โรงพยาบาลสังกัดกรมพยาบาลไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล ยกเว้นโรงศิริราชพยาบาล คงให้เป็นสาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย ส่วนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรคและแพทย์ประจำเมือง ยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการตามเดิม  

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2455 ได้มีการจัดตั้งกรมพยาบาลขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) เดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ และพบเห็นการรักษาพยาบาลป้องกันโรค ตลอดจนวิธีปลูกฝี จึงได้ถวายรายงานขึ้นนำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้รีบจัดวางระบบป้องกันโรคระบาดในขณะนั้น ได้แก่ โรคฝีดาษ อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้พิศม์ โดยแต่งตั้ง พระยาอมรฤทธิธำรง (ฉี บุนนาค) เป็นเจ้ากรมพยาบาลคนแรก หลังจากนั้น ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนเป็น “กรมประชาภิบาล” เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นต้องการปรับปรุงงานด้านสาธารณสุขให้กว้างขวางและก้าวหน้ามากขึ้น จึงความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตในการเปลี่ยนชื่อ

ทั้งนี้วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ได้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง โดยได้เปลี่ยนจากกรมประชาภิบาลเป็น “กรมสาธารณสุข” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข” และอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย

จากกรมสาธารณสุข เป็นกระทรวงสาธารณสุข

จอมพล ป.พิบูลสงคราม 

24 ปีต่อมา ในช่วง พ.ศ. 2485 หลังการปฏิรูปการปกครองประเทศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็น “กระทรวงสาธารณสุข” พร้อมทั้งมีการรวบกิจการแพทย์และสาธารณสุขที่กระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน  เช่น กรมสาธารณสุข กรมประชาสงเคราะห์ กองสุขาภิบาล โรงเรียนของกรมพลศึกษา การสาธารณสุขและการแพทย์ของเทศบาล แผนกอนามัย และสุขาภิบาลของกรมราชทัณฑ์ กองเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมไทยของกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงการเศรษฐกิจ และกิจการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวกับแพทยศาสตร์เหล่านี้ให้มารวมอยู่ ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานเดียว

นอกจากนี้ยังได้ถือวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข โดยถือตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา คือ 10 มีนาคม 2485 แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสถาปนากรมสาธารณสุขในกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2461 และได้นำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย จึงเป็นอันว่า “วันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข เป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน ตั้งแต่ พ.ศ. 2509” เป็นต้นมา

ประวัติที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข

ในสมัยแรกเริ่มต้นจัดตั้งกรมพยาบาล ราว พ.ศ. 2456 สถานที่ตั้งอยู่ใน “กระทรวงมหาดไทย” จนกระทั่ง พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาภิบาล และ พ.ศ. 2461 เป็นเปลี่ยนเป็นกรมสาธารณสุข แต่ยังคงอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการรวมกิจการแพทย์และสาธารณสุขให้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานเดียว จึงได้สถาปนาขึ้นเป็น “กระทรวงสาธารณสุข” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2485 และได้ย้ายมาอยู่ที่ “วังศุโขทัย” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยเช่าอาคารต่าง ๆ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งอยู่ที่วังศุโขทัยเป็นเวลานานถึง 8 ปี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 10 ท่าน จนกระทั่งในสมัยที่พระยาบริรักษเวชชการ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้สำนักงานพระราชวังจัดเตรียมวังศุโขทัย ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระยาบริรักษเวชชการ จึงได้เสนอขออนุมัติซื้อ “วังเทวะเวสม์” เพื่อเป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุขต่อมา ได้รับความอนุเคราะห์ให้ยืมเงินจากโรงงานยาสูบและกรมสรรพสามิต มาจ่ายก่อน 2,500,000 บาท และต่อมาได้ซื้อเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,580,000 บาท ได้อาคารรวม 6 หลัง มีเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา และจากนั้นได้ย้ายที่ทำการออกจากวังศุโขทัย มาอยู่วังเทวะเวสม์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493

สำหรับการบูรณะระยะต้น ได้แก่ การจัดทำเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมมีเพียงเขื่อนไม้ซึ่งชำรุด จึงได้ขอความร่วมมือจากกรมชลประทาน ซึ่งสมัยนั้น ม.ล.ชูชาติ กำภู ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน ได้ช่วยปรับปรุงเปลี่ยนเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กมีรั้วริมเขื่อนตลอด และถมดินบริเวณริมแม่น้ำ ตั้งเสาคอนกรีตติดโคมไฟริมเขื่อนเป็นระยะ ๆ รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด 460,000 บาท

ต่อจากนั้น ใน พ.ศ. 2498 สมัยพลโทประยูร ภมรมนตรี เป็นรัฐมนตรี ได้ขยายถนนคอนกรีตจากประตูทางเข้าจนจดริมแม่น้ำให้กว้างกว่าเดิม ย้ายเสาไฟฟ้าและโทรศัพท์ออกไปอยู่ริมถนนที่ขยายใหม่ ขยายประตูด้านหน้า ทำเสาประตูใหม่ และยังฝังท่อ ถมคู และบ่อพักน้ำ ถมดินที่สนามหน้ากระทรวงให้สูงกว่าเดิม รวมทั้งขยายลานจอดรถ โดยใช้งบประมาณอีก 365,583.25 บาท การลงทุนในระยะ 5 ปีแรก รวมทั้งสิ้น 7,905,583 บาท กับอีก 1 สลึง ภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2505 กระทรวงสาธารณสุขได้ขอซื้อที่ดินจากหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล และให้มีการก่อสร้างตึก 3 ชั้นขึ้น เพื่อขยายบริเวณที่ทำการของกระทรวงที่เริ่มคับแคบ

ต่อมากระทรวงสาธารณสุข ณ วังเทวะเวสม์ ได้มีการขยายหน่วยงานงานเพิ่มขึ้น จึงเริ่มเกิดปัญหาความแออัดขึ้นอีก ทั้งด้านสถานที่ทำงานและการจราจร นับวันปัญหาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารจึงแนวคิดที่จะย้ายกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาความแออัดดังกล่าว ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกระกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้น มีความประสงค์จะขยายพื้นที่ปฏิบัติงานในปี พ. ศ. 2526 ด้วยเหตุนี้จึงเห็นชอบและตกลงกันให้กระทรวงสาธารณสุขจะย้ายไปปลูกสร้างใหม่แทน

ทั้งนี้ที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขแห่งใหม่ อยู่ที่ จ.นนทบุรี เป็นการขอใช้ที่ดินส่วนหนึ่ง ประมาณ 400 ไร่ ของโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งที่ดินดังกล่าว ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี (โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา) ได้มองเห็นการณ์ไกลจัดซื้อไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโรงพยาบาลและสร้างนิคมโรคจิต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในการเสนอโครงการย้ายกระทรวง และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ. ศ. 2534 และแล้วเสร็จในปี 2537 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุขมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มาตราสัญลักษณ์กระทรวงสาธารณสุข

หลังจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นแล้ว ทางราชการได้กำหนดรูป “คบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิง” เป็นเครื่องหมายของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ “คธาของเอสกูลาปิอุสที่มีงูพันอยู่โดยรอบ” นั้น แพทยสมาคมอเมริกันได้นำมาใช้เป็นเครื่องหมายประจำสมาคมอยู่แล้ว โดยตำนานเครื่องหมายนี้มีว่า

ในสมัยประมาณ 1,200 ปี ก่อนคริสตกาล ในขณะที่เอสกูลาปิอุสกำลังทำการบำบัดโรคให้แก่ผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งมีนามว่ากลอคุส (Glovcus) ภายในสถานที่ทำงานของเขานั้นมีงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและขึ้นพันคธาของหมอโดยการณ์ปรากฎเช่นนี้จึงเป็นที่เชื่อถือกันในครั้งนั้นว่า งูตัวนั้นได้บันดาลให้หมอ เอสกูลาปิอุส มีความเฉลียวฉลาดสามารถในการบำบัดโรคยิ่งนัก เพราะในสมัยโบราณนับถือว่างูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบันดาลให้เกิดความมั่งคั่งสมบูรณ์ของบ้านเมือง และทำให้โรคต่าง ๆ หายได้ งูในกาลก่อนจึงนับว่าเป็นเครื่องหมายแห่งสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด อำนาจและสุขภาพอันดี ส่วนคธานั้นคือ เครื่องหมายแห่งการป้องกันภัยต่างๆ และเป็นประดุจเครื่องนำและช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ศึกษาในทางวิทยาศาสตร์

ส่วนไม้ศักดิ์สิทธิ์ (Caduccus) ซึ่งมีลักษณะเป็นคธาเกลี้ยง มีปีก และมีงูพันอยู่ 2 ตัว มีตำนานว่าเมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสตกาล วันหนึ่งในขณะที่เทพเจ้าอะปอลโลกำลังท่องเที่ยวอยู่ในดาร์คาเดีย (Arcadia) ได้พบงู 2 ตัว กำลังกัดกันอยู่ โดยมิประสงค์จะให้สัตว์ศักดิ์สิทธิ์นี้ต่อสู้และประหัตประหารกันอะปอลโลจึงได้ใช้ไม้เท้าที่ถือนั้นแยกงูทั้งสองออกจากกันเสีย ไม้เท้านั้นจึงได้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความสงบตั้งแต่นั้นมา ภายหลังได้มีผู้เติม ปีก 2 ปีก ติดกับหัวไม้เท้านั้น ซึ่งแสดงถึงความว่องไวและปราดเปรียว

ทั้งนี้ เครื่องหมายคธามีปีกและงูพัน 2 ตัวนี้ เริ่มนำมาใช้เป็นเครื่องหมายของผู้มีวิชาชีพแพทย์ โดย เซอร์วิลลเลียม บัตต์ส (Sir William Butts) นายแพทย์ประจำพระองค์ พระเจ้าเฮ็นรี่ที่ 8 ประมาณในเวลาใกล้ ๆ กันนั้น คือ ในราวคริสศตวรรษที่ 16 โยฮันน์ โฟรเบน (Johann Froben) ผู้มีอาชีพสำคัญในทางพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการแพทย์ ได้ใช้เครื่องหมายนี้พิมพ์ที่ปกหนังสือเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา

 

พระอนุสาวรีย์ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร”ผู้มีคุณูปการด้านการแพทย์ไทย

พระประวัติ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตพระยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร” ทรงเป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง (สนิทวงศ์) ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ ปีระกา ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อพระชันษาได้ 12 วัน เจ้าจอมมารดาถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงยกให้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา

พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง และ เสด็จไปศึกษาชั้นมัธยม ณ เมืองฮัสเบอรสตัด ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2442 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กโดยทรงพระประสงค์ที่จะศึกษาวิชาแพทย์ แต่ในระยะแรกทรงศึกษาวิชากฎหมาย ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงเปลี่ยนไปเรียนวิชาการศึกษา และยังทรงเข้าเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์บางอย่างเป็นส่วนพระองค์กับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย

พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ทรงสำเร็จการศึกษา เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร" เมื่อ พ.ศ. 2457 ทรงรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล ให้สนใจศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์

พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวพรอยไลน์ เอลิซาเบธ ชาร์นแบร์เกอร์ ณ สำนักทะเบียนอำเภอเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2455 แล้วเสด็จกลับเมืองไทย ประทับที่ ตำหนักบริเวณถนนหลวง ข้างวัดเทพศิรินทร์และทรงเข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ

  • 6 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 โปรดเกล้าฯ ให้เป็น นายหมวดโท ในกองเสือป่า
  • 17 มกราคม พ.ศ. 2457 พระราชทานพระสุพรรณบัฏตั้งเป็นกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร
  • 13 เมษายน พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการ โรงเรียนราชแพทยาลัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดระเบียบโรงเรียนราชแพทยาลัยและศิริราชพยาบาล แก้ไขขยายหลักสูตรวิชาแพทย์ วิชาเภสัชกรรม วิชาพยาบาล และผดุงครรภ์ตามแนวปัจจุบัน
  • 25 มกราคม พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกองตรีในกองเสือป่า และเป็นผู้บังคับการ กรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง
  • 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 โปรดเกำล้าฯ ให้เป็นนายกองโท ในกองเสือป่า
  • 13 มีนาคม พ.ศ. 2460 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกองเอก ในกองเสือป่า
  • 19 มีนาคม พ.ศ. 2460 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพันตรีพิเศษทหารบก
  • 6 เมษายน พ.ศ. 2460 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นใหม่
  • 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข ซึ่งสถาปนาในวันนั้น
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร

พระองค์เจ้ารังสิตฯ ทรงรับราชการเป็นเวลา 12 ปี ก็กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2468 เนื่องจากพระอนามัยไม่สมบูรณ์ และทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2486 พระชนมายุได้ 58 พรรษา

อ้างอิงข้อมูล    : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข

                    : ประวัติกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

                    : วิกิพีเดีย