ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - สธ.ออกโรงเตือน ระวัง 6 โรคติดต่อจากอาหารและน้ำในช่วงหน้าร้อน ระบุพื้นที่ประสบภัยแล้งมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาด เผยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยกว่า 2 แสนราย เสียชีวิตแล้ว 3 ศพ จากอุจจาระร่วง สั่งคุมเข้มมาตรฐานความสะอาดทั้วประเทศ ทั้งโรงงานผลิตน้ำดื่ม น้ำประปา โรงน้ำแข็ง ตลาดสด และส้วมสาธารณะ

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนของทุกปี อุณหภูมิความร้อนที่ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี โรคติดต่อที่พบ บ่อยมี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ขาด แคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำซึ่งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์สถานการณ์โรคติดต่อที่ติดต่อทางอาหารและน้ำที่เกิดในฤดูร้อน ปี 2557 นี้ ระหว่างเดือนก.พ.-พ.ค. มีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 3 โรค ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค โรคไทฟอยด์ และโรคไวรัสตับอักเสบเอ ทั้งนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม โรงงานผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตไอศกรีม ตลาดสด และส้วมสาธารณะ เฝ้าระวังโรคหากมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ออกสอบสวนควบคุมโรคทันที เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6 โรค ในปี 2556 พบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,259,408 ราย เสียชีวิต 13 ราย โดยโรคอุจจาระร่วงพบผู้ป่วยมากสุด รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์ โรคไวรัสตับอักเสบเอ และโรคอหิวาตกโรค ตามลำดับ ส่วนในปี 2557 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-24 ก.พ. พบผู้ป่วย 6 โรค รวม 206,528 ราย ผู้ป่วยมากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วง 186,298 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 19,549 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 รายจากโรคอุจจาระร่วง ซึ่งโรคติดต่อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงดิบ ๆ สุก ๆ มีแมลงวันตอม หรือทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ อาหารค้างคืน รวมทั้งการมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ไม่ดี จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ยึดหลักป้องกันป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งตามจังหวัดต่าง ๆ นางภัชธนิตา สดุดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  (ปภ.) จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จ.เชียงใหม่ ขณะนี้ก็มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้งแล้ว 2 อำเภอ คือ อ.ไชยปราการ และ อ.ดอยเต่า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอำเภอที่ได้เสนอเรื่องมายังจังหวัดเพื่อให้ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอเข้าไปให้ความช่วยเหลือจัดหาน้ำและแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ประสบภัย ขณะที่ นายชัชวาล ปัญญา นอภ.ดอยเต่า เปิดเผยว่า ปีนี้พื้นที่ อ.ดอยเต่า แห้งแล้งมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าจะแล้งหนักสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งขณะนี้มีประชาชนประสบภัยแล้งแล้ว กว่า 5 พันครัวเรือน หรือกว่า 2 หมื่นคน

ที่ จ.ระนอง นายสมชาย คล้ายสวี นายก อบต.ทรายแดง อ.เมืองระนอง เปิดเผยว่า ชาวบ้านชุมชน 2 หัวสะพาน หมู่ 1 ต.ทรายแดง จำนวนกว่า 60 ครัวเรือน ขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาเริ่มแห้งขอด ทำให้ชาวบ้านต้องหันมาพึ่งพาบ่อน้ำสมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 ที่ทหารญี่ปุ่นได้ขุดเอาไว้เมื่อครั้งยกพลขึ้นบกที่ จ.ระนอง ซึ่งบ่อน้ำทั้ง 2 บ่อยังคงมีน้ำออกมาอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องแบ่งกันใช้ นายสมชาย กล่าวว่า พื้นที่ ต.ทรายแดง มีสภาพเป็นภูเขาและเนินสูง ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ช่วงหน้าแล้งจึงมักเกิดวิกฤติปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ทั้ง 4 หมู่บ้าน รวม 1,221 ครัวเรือน ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกสระน้ำในหมู่บ้าน 2 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ และสร้างฝายแม้วกักเก็บน้ำจากป่าต้นน้ำ 2 จุด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั่วถึง จึงมีแผนที่จะเร่งขุดเจาะบ่อบาดาล ถังพักเก็บกักน้ำ และระบบบาดาลเพิ่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ส่วนที่ จ.นราธิวาส ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลก ขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย นายมามะ สามะ อาชีพขับเรือรับจ้างส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำยอมรับว่า ปีนี้ระดับน้ำลดลงเร็วมาก ซึ่งบริเวณต้นน้ำทาง อ.แว้ง จนถึงพื้นที่บางส่วนของแม่น้ำโก-ลก ได้แห้งขอดจนประชาชนสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาระหว่างสุไหงโก-ลกกับเมืองรันตูปันยัง ประเทศมาเลเซียได้ ส่วนบริเวณท่าประปาซึ่งเป็นพื้นที่ลาดต่ำ ระดับน้ำขณะนี้ลึกประมาณ 3 เมตร จึงยังสามารถขับเรือข้ามไปมาได้ ขณะที่ประชาชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก ไม่ห่วงว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะสร้างความเดือดร้อนให้ เนื่องจากวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโก-ลก ทำให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--