ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยมีผู้ป่วยจากมลพิษไฟไหม้ขยะที่จังหวัดสมุทรปราการกว่า 940ราย ส่วนใหญ่ระคายเคือง แสบตา ตาแดง โดยอาการของเด็กอายุ 1 ปี 8 เดือนที่มีปัญหาปอดอักเสบติดเชื้ออาการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งหน่วยแพทย์เริ่มเจาะเลือด และเก็บปัสสาวะกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูการทำงานของตับและไต  

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่ อบต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ว่า วันนี้ที่ประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่ อบต.แพรกษา จ.สมุทรปราการ รายงานว่า สถานการณ์ควันไฟวันนี้ดีขึ้นเล็กน้อย ต้องเฝ้าระวังต่อไป    วันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข กว่า 30 คน ออกแจกเอกสารให้ความรู้คำแนะนำประชาชนอยู่ในรัศมี 500 เมตรรอบบ่อขยะ ในการปฏิบัติตัว เพื่อลดความเสียง ลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสหมอกควันจากบ่อขยะ  โดยเฉพาะอันตรายของมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีอาการแสบจมูก แสบตา คอแห้ง ระคายเคืองผิวหนัง ทำลายเนื้อเยื่อปอดและในระยะยาวอาจกลายเป็นมะเร็งปอดได้  คาร์บอนไดออกไซด์ หากได้รับเป็นเวลานาน มีผลให้สมองขาดอ็อกซิเจน ทำให้ง่วงซึม ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วหมดสติและอาจถึงตายได้   จึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดม  และควรอพยพออกจากพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ

วันนี้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุข ออกให้บริการ 2 จุดได้แก่ ที่ อบต.แพรกษาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และที่วัดแพรกษา ให้บริการตั้งแต่ 08.00 น.-16.00 น.จนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบสัมผัสควันไฟบ่อขยะเข้ารับการตรวจรักษารวม 940 ราย ส่วนใหญ่ระคายเคืองตา แสบคอ แสบจมูก   สำหรับเด็กอายุ 1ปี 8 เดือนที่นอนรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการด้วยอาการปอดติดเชื้อ ขณะนี้อาการดีขึ้นเรื่อยๆ โดยวันนี้ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะเพิ่มเติมในกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง เพื่อประเมินการทำงานของตับ และไต และจะติดตามให้ได้ทั้งหมด

นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะผู้อำนวยการวอร์รูมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่ อบต.แพรกษา จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับแผนการจัดการปัญหาจากมลพิษควันไฟขยะเพิ่มเติม     โดยแบ่งเป็น 4 ทีม ได้แก่ 1.ทีมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2.ทีมเฝ้าระวัง 3.ทีมระบบโลจิสติก 4.ทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้การทำงานที่ชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบ่อขยะ ให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยสุขภาพ โดยมีการประสานงานใกล้ชิดกับกรมควบคุมมลพิษ