ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยวันที่ 22 มีนาคมทุกปี เป็นวันแห่งน้ำโลก ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยน้ำดื่ม รวมทั้งน้ำแข็ง สร้างความปลอดภัยประชาชน ลดป่วยจากการดื่มน้ำไม่สะอาด ที่สำคัญคือโรคอุจจาระร่วง ทั่วโลกมีรายงานป่วยจากโรคนี้ปีละ 1,700 ล้านราย เป็นเหตุให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตปีละกว่า 700,000 ราย ส่วนไทยในช่วงกว่า 2 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยทั่วประเทศกว่า 200,000ราย เสียชีวิต 2 ราย แนะประชาชนเพิ่มความระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ถ่ายอุจจาระในส้วม และล้างมือฟอกสบู่หลังใช้ห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 22 มีนาคม ทุกปี สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันแห่งน้ำโลก (World Water Day) เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา เพื่อให้ทั่วโลกระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตในโลก และกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการอนุรักษ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำให้สะอาดปลอดภัย โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่าในแต่ละปี ประชากรทั่วโลกป่วยจากโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเกิดจากการมีเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ปีละประมาณ 1,700 ล้านราย และโรคนี้ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ปีละ 760,000 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคปอดบวมด้วย ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาในปี 2557 ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงมีนาคม ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 253,967 ราย เสียชีวิต 2 ราย เมื่อเทียบกับปี 2556 ในช่วงเดียวกัน พบว่าจำนวนผู้ป่วยในปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 ผู้ป่วยเกือบครึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่าในการป้องกันควบคุมโรคอุจจาระร่วง กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ควบคุมมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำดื่ม รวมทั้งน้ำแข็งให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี มีเครื่องหมายอย. สุ่มตรวจเฝ้าระวังคลอรีนตกค้างปลายท่อน้ำประปาทุกชนิดให้เป็นไปตามมาตรฐานกรมอนามัยคือ 0.2-0.5มิลลิกรัม/ลิตร โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้น้ำ และให้เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงอย่างต่อเนื่อง ให้เข้มข้นพิเศษในช่วงหน้าร้อนนี้ เนื่องจากการบริโภคน้ำและน้ำแข็งสูงกว่าฤดูกาลอื่นๆ

ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ความสะอาดปลอดภัยของน้ำบริโภค เป็นปัจจัยพื้นฐานสาธารณสุขที่สำคัญ หากน้ำไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะเฉียบพลัน หรือก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในระยะยาวจากผลกระทบของสารเคมีที่เป็นอันตรายเช่นตะกั่ว ปรอท และสะสมร่างกายโดยไม่รู้ตัวโดยปกติคนเราต้องดื่มน้ำให้ได้วันละ 2-2.5ลิตรต่อคน คาดว่าต่อวันมีการดื่มน้ำประมาณ130 ล้านลิตร

กรมอนามัยได้สำรวจและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริโภคในสถานที่สาธารณะต่างๆเช่นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพวัด/ศาสนสถาน ตลาด ปั๊มน้ำมันโรงพยาบาลเป็นต้นเพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยและดำเนินการในพื้นที่เข้าถึงได้ยากถิ่นทุรกันดารพื้นที่ห่างไกลเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและหาทางเลือกที่เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่อบรมการจัดการน้ำสะอาดพฤติกรรมอนามัยเช่นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารโรงเรียนพระปริยัติธรรมศูนย์ศึกษาสงเคราะห์ในพื้นที่ชาวเขาโรงเรียนปอเนาะเป็นต้นที่ผ่านมาพบได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี พบว่า คนไทยมีน้ำดื่มและน้ำใช้มาจากแหล่งน้ำหลัก4ประเภท คือ น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำฝนน้ำประปา และน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำบ่อ-บาดาล น้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นต้น โดยน้ำที่ครัวเรือนไทยใช้ดื่มมากที่สุดคือ น้ำฝน ร้อยละ35รองลงมาคือ น้ำดื่มบรรจุขวด ร้อยละ 32และน้ำประปาร้อยละ 24 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กรมอนามัยทำการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ ได้แก่ กินร้อน คือรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร และภายหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม รวมทั้งดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก ดูแลรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหาร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร รักษาความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วม และถ่ายอุจจาระลงส้วม ส่วนในเด็กแรกเกิดขอให้เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวไปจนถึงอายุ 6 เดือน เนื่องจากนมแม่สะอาดปลอดภัย เด็กจะได้รับภูมิต้านทานโรคจากแม่ ทำให้โอกาสป่วยจากโรคนี้น้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม

สำหรับโรคอุจจาจาระร่วง อาการเจ็บป่วยที่พบ คือถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำบ่อยครั้งหรือถ่ายมีมูกเลือดปน ปวดท้อง อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ผลจากการถ่ายเหลวจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ หากสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากจะเกิดอาการกระหายน้ำ กระสับกระส่าย ผิวหนังเหี่ยวเพราะขาดน้ำ และหากร่างกายขาดน้ำรุนแรง อาจถึงขั้นช็อค และเสียชีวิตได้ ในการดูแลผู้ที่เป็นโรคอุจจาระร่วงในเบื้องต้น ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรืออาหารเหลวมากๆ เช่น น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าโอ อาร์ เอส โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่ ให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม ในดื่มแทนผงน้ำตาลเกลือแร่ได้เช่นกัน ประการสำคัญหลังผสมแล้ว จะต้องดื่มให้หมดภายใน 1วัน และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ยังไม่หยุดถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์