ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - เมื่อวันที่ 9 เมษายน  สภาทนายความ ได้นำชาวบ้านชุมชนแพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และประชาชนที่มีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจำนวน 162 คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากเหตุไฟไหม้ บ่อขยะภายในซ.แพรกษา 8 เดินทางมายื่นฟ้อง 7 หน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวชาวบ้าน และจัดทำแผนปฏิบัติการขจัดมลพิษด้านขยะอย่างเป็นรูปธรรม และให้ดำเนินคดีต่อผู้ประกอบกิจการรับบริการขนขยะโดยไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535

สำหรับ 7 หน่วยงานรัฐที่ถูกยื่น ฟ้องครั้งนี้ประกอบด้วย นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบล(อบต.) แพรกษา สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในข้อหาทำผิดพ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ. 2535

นายสำนวน ประพิณ รองประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดี สภาทนายความ ผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 162 คนจำเป็นจะต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 เพราะจน ขณะนี้ไฟยังไม่ดับสนิททำให้เกิดก๊าซพิษส่งผล ต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านดังกล่าว รวมถึงพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหายปะปนไปด้วยสารพิษ

วันเดียวกัน นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการบริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวน คดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมด้วยนายสุรพล ชามาตย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เดินทางเข้าตรวจสอบโรงงานฟอกหนังซึ่งตั้งอยู่ภายในซอยเทศบาลบางปู 88 (ซอยโรงหมี่) หมู่ 6 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ เพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างเศษหนังสัตว์ และสารเคมีที่ใช้ในการฟอกหนัง มาทำการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ เปรียบเทียบกับเศษหนังสัตว์และกากตะกอนอุตสาหกรรมที่พบในบ่อขยะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้

อย่างไรก็ตาม โรงงานไหวตัวทันปิดทำการหนีไปก่อน เหลือเพียงกองหนังสัตว์ที่คาดว่าเคลื่อนย้ายออกไปไม่ทันกองเอาไว้เท่านั้น แต่ไม่มีผู้ใดมาแสดงตัวเป็นเจ้าหรือคนงานแต่อย่างใด ทางเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ ช่วยให้ออกหมายเรียกตัวเจ้าของโรงงานดังกล่าวเข้าพบเพื่อชี้แจงและรับทราบ ข้อกล่าวหาต่อไป

ด้าน นายสุรพลกล่าวว่า การปราบปราม โรงงานเถื่อนจะต้องทำคู่กันไปกับการป้องกัน และจัดการกับโรงงานที่ลักลอบทิ้งขยะพิษ

ในขณะที่นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการ บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า จากการ ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการลักลอบทิ้งขยะบ่อแพรกษานั้นมีประมาณ 200 โรง และได้ออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขนส่ง ผู้กำจัด เอามาตรวจสอบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้จับกุมดำเนินคดีแล้ว 7 โรง โดยจะทยอยจับกุมเรื่อยๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 10 เมษายน 2557