ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยนำเข้าหลักสูตรว่ายน้ำจากแดนจิงโจ้ สอนเด็กไทย นำร่องศูนย์เด็กเล็ก 12 แห่ง ก่อนขยายทั่วประเทศ หวังลดปัญหาเด็กจมน้ำตาย ช่วยเหลือตัวเองเป็น หลังพบเด็กไทยตายจากการจมน้ำสูงเป็น 2 เท่ากว่าโรคภัยและอุบัติเหตุ
       
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กไทย กรมฯจึงได้นำหลักสูตรการสอนว่ายน้ำของออสเตรเลียมาใช้อบรมครูพี่เลี้ยง เพื่อใช้ในการสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็นและช่วยเหลือตัวเองได้เมื่ออยู่ในน้ำ เบื้องต้นนำร่องอบรมให้กับครูพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กสังกัดกรมอนามัยทั้ง 12 แห่ง โดยเด็กที่เข้าเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กต้องได้เรียนหลักสูตรการว่ายน้ำทุกคน จากนั้นจะขยายไปทั่วประเทศ โดยจะเปิดอบรมให้กับครูพลศึกษาที่มีจิตอาสาต้องการที่นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปสอนให้กับเด็ก
       
“ออสเตรเลียมีปัญหาเรื่องเด็กจมน้ำเสียชีวิตไม่ต่างจากไทย หลักสูตรที่กรมนำมาใช้นี้มีการใช้ในออสเตรเลียแล้ว พบว่า ลดปัญหาได้จริง โดยหลักสูตรจะเน้นสอนให้เด็กเรียนรู้การกลั้นหายใจไม่ให้น้ำเข้าจมูก การลอยตัวแล้วการว่ายน้ำเป็นจะตามมา ซึ่งปัญหาการจมน้ำตายของเด็กไม่ได้เกิดจากการเล่นน้ำในสระน้ำธรรมชาติหรือในสระว่ายน้ำเท่านั้น แต่ยังพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพียงแค่น้ำในถังหรือกะละมังที่มีความสูงเพียง 1-2 นิ้ว ก็อาจทำให้เด็กจมน้ำได้ เพราะเด็กเล็กยังมีการทรงตัวไม่ดี พัฒนาการทางร่างกายยังไม่พร้อมในการป้องกันตัวเอง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ช่วงปี 2546-2556 ไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยปีละ 1,388 คน ตกวันละ 4 คน โดยกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำสูงถึงร้อยละ 30.2 ของทุกกลุ่มอายุ สูงกว่าโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุถึง 2 เท่า และจากผลการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเด็กอายุ 5-14 ปี ซึ่งมีมากกว่า 8 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 23.7 หรือประมาณ 2 ล้านคน แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอดได้เพียงร้อยละ 4.4 หรือประมาณ 367,704 คน