ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นำโดยปลัดฯ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้ยื่นข้อเสนอต่างๆ ต่อสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ตามมาด้วยมาตรการประท้วงโดยการสั่งให้ รพ.ในสังกัดงดเข้าร่วมการประชุมที่สปสช.เป็นผู้จัด ไม่ให้สสจ.ทำหน้าที่สปสช.สาขาจังหวัด และไม่ให้ความร่วมมือกับสปสช.ต่อทุกโครงการ อันนำมาถึงความชะงักงัน  และล่าช้าของโครงการพัฒนาบริการสุขภาพต่างๆ  ซึ่งทางสปสช.ก็เห็นด้วยกับการไม่ให้สสจ.เป็นสปสช.สาขาจังหวัด  แต่ประเด็นอื่นๆ  ยังอยู่ในขั้นการเจรจาต่อรอง  หลายประเด็นคงต้องให้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม เป็นที่ยอมรับของประชาชนมาเป็นผู้ตัดสินใจ

แต่ประเด็นการให้ สปสช.ปรับบทบาทมาเป็นเพียงผู้จ่าย (Payer) แทนการเป็นผู้ซื้อ (Purchaser) โดยซื้อบริการผ่านเขตสุขภาพนั้น ก็จะลดการตรวจสอบ และคานอำนาจลงตามหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ต้องแยกบทบาทผู้ซื้อ และผู้จัดบริการ (purchaser-provider split) การซื้อผ่านในระดับเขต เป็นระดับที่ใหญ่เกินไป จนทำให้ผู้จัดบริการกลายเป็นผู้ซื้อบริการ และผู้จัดสรรทรัพยากรเสียเอง ย้อนยุคกลับสู่อดีต

นอกจากนี้โครงสร้างของคณะกรรมการผู้จัดบริการ (provider board) ก็ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความไม่สมดุลของตัวแทนรพ.ระดับต่างๆ ระหว่างรพ.จังหวัด และรพ.ชุมชน   การเป็น Regulator ของสาธารณสุขนิเทศน์  ที่จะมาควบคุมกำกับการทำงานของกลุ่มผู้จัดบริการที่มีผู้ตรวจราชการเป็นประธาน ไม่มีอิสระที่แท้จริงต่อกัน  (regulator –provider split)  และต่างก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงทั้งคู่  สวนทางกับหลักการปฏิรูป และการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง 

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเอง ในบทบาท Regulator ก็ควบไปทบทวน และปรับปรุงการควบคุมการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ระบบคุณธรรมในการโยกย้าย แต่งตั้ง การควบคุมราคาของรพ.เอกชน การคอร์รัปชั่นเวลาของบุคลากรในการปฏิบัติงาน เป็นต้น ให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา

การปฏิรูปควรเน้นไปที่หลักการกระจายอำนาจที่ถูกต้อง ลดการตัดสินใจแบบรวมศูนย์ ทั้งสธ. และสปสช. รวมไปถึงนโยบายจังหวัดจัดการตนเอง ควรให้รพ.แต่ละแห่งที่พร้อมเป็นรพ.ในกำกับของรัฐ (Autonomous hospital) ตามแนวทางของ พ.ร.บ. องค์กรมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดโครงสร้างการบริหารที่สมดุลทั้งภาคราชการ ท้องถิ่น และชุมชน ตามแบบรพ.บ้านแพ้ว หรือถ้ายังไม่พร้อมก็โอนไปสังกัดกับอปท.ตามระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆ การจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายไปสู่จังหวัดต่างๆ มากขึ้นอย่างเหมาะสม เป็นธรรม แทนการกระจุกตัวทั้งอำนาจการตัดสินใจ และทรัพยากรอยู่ส่วนกลาง สู่รูปแบบการเลียไอติมจากส่วนกลางจนสู่ท้องถิ่น  กว่าจะถึงประชาชนก็เหลือแต่เศษไอติมติดไม้เท่านั้น  และยังเอื้อต่อการทุจริตตามคำกล่าวของLord Acton  ที่ว่า “absolute power corrupts absolutely” (คนที่มีอำนาจสมบูรณ์แบบก็ทุจริตคดโกงสมบูรณ์แบบ)  

หวังว่า ศึกระหว่าง สธ.กับ สปสช.จะจบลงอย่างสร้างสรรค์ มีความสมานฉันท์ (harmonization) และมีวุฒิภาวะ(Maturity)ที่มากพอสู่การปฏิรูปที่แท้จริง เพื่อสุขภาวของประชาชน  มิใช่การกระชับอำนาจเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องเท่านั้น หรือการประท้วงที่ไม่สนใจความเสียหายที่เกิดกับประชาชนอย่างที่เป็นอยู่

ผู้เขียน : นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน