ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากปรากฏการณ์โรคโควิด19 (COVID-19) ที่เริมตั้งแต่ปลายปี 2562 ในประเทศจีน และระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องมีมาตรการปิดเมือง เพิ่มระยะห่างทางสังคมหรือกายภาพ (social or physical distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างมาก มีการปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ หรือนววิถี (new normal) ในการทำงานในทุก ๆ ระบบทั้งการประชุมทางไกล การเรียนทางไกล การสั่งอาหารมาทานที่บ้าน ร่วมไปถึงการบริการสุขภาพทางไกล (Telehealth) เพื่อลดการเดินทางมาแออัดในรพ.ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งแต่เดิมก็มีระบบบริการแบบนี้อยู่บ้างแล้วเพื่อลดปัญหาโรงพยาบาลแออัด และภาระการเดินทางมารพ.ของประชาชนที่มีข้อจำกัด แต่อุปสรรคที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ ระบบข้อมูลสุขภาพที่กระจัดกระจายขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างรพ.ทั้งในภาครัฐของแต่ละกระทรวง และภาคเอกชนทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลแบบดิจิตัลในระบบคอมพิวเตอร์แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลเพราะมีโปรแกรมที่ต่าง ๆกัน ขาดการกำหนดชุดรหัสข้อมูลมาตรฐานกลาง (standard data code) โดยที่ข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากต่อทุกฝ่ายดังนี้

1.ระหว่างทีมสุขภาพที่สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันทั้งในการส่งต่อผู้ป่วยไปมาในการรักษาระดับต่าง ๆ ในการวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ผสมผสาน และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างทีมหมอครอบครัว กับแพทย์เฉพาะทางซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบบริการปฐมภูมิ (primary healthcare) และการบริการที่มุ่งเน้นคุณค่า (value-based health care)

2.ผู้ป่วย ที่อาจร่วมไปถึงครอบครัว ชุมชนได้ใช้เพื่อรับรู้ข้อมูลสุขภาพของตนเอง การดูแลตัวเองตามแผนการรักษา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพซึ่งเป็นการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงที่จะเรียนรู้ความรอบรู้ทางสุขภาพ (health literacy) เช่น การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการป้องกันโรคโควิด19 โดยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ เป็นต้น

3.ฝ่ายบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ที่สามารถนำข้อมูลโรคภัยที่สำคัญ ต้นทุนค่าใช้จ่าย และทรัพยากรต่าง ๆ เช่น งบประมาณ อัตรากำลัง เป็นต้น มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน และการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนในแต่ละกลุ่ม หรือพื้นที่

อย่างไรก็ตามการบริการใหม่นอกจาระบบข้อมูลสารสนเทศ แล้วยังต้องคำนึงถึงมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัย การคุ้มครองสิทธิ์ของทั้งผู้ป่วย และผู้จัดบริการ การบริหารที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการแบบใหม่นี้ของประชาชนแต่ละกลุ่มตามพื้นที่ต่าง ๆ สิทธิ์การรักษาและเศรษฐานะที่แตกต่างกัน ร่วมไปถึงการพัฒนารูปแบบที่ยืดหยุ่นตามบริบทในการจัดบริการต่อไป ตามภาพประกอบ

ผู้เขียน : นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน