ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. ผนึกเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทั่วไทย เดินหน้า “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” ปกป้องสุขภาพคนไทย ชี้ คนไทยไม่สูบมากกว่า 80% เร่งรณรงค์ ติดสติ๊กเกอร์สร้างพื้นที่ปลอดควัน ลดการละเมิดกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ หลังพบพื้นที่สาธารณะกว่า 2 ใน 3 มีผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ ตลาดนัด-สถานีขนส่ง-สนามกีฬา หนักสุด ชวนคนรุ่นใหม่ โพสรูปสติ๊กเกอร์-check in ผ่านแอปฯ “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” ขยายพื้นที่ปลอดควัน 100%

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์จิตอาสาขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ “รวมพลัง ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ ในพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 100%” โดยมีหน่วยงานต่างๆ 11 หน่วยงานมาร่วมแสดงพลัง “ท้วงสิทธิ์ ห้ามสูบ”

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การบริโภคยาสูบของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า คนไทยสูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 19.94 ลดลงจากปี 2554 ที่มีคนสูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 21.4 แต่ปัญหาการรับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะยังเป็นปัญหาสำคัญ ล่าสุด สสส. ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจสถานการณ์ควันบุหรี่มือสองในประชากรอายุ 15-64 ปี จำนวน 2,089 คนจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 2557 พบสถานที่สาธารณะ กว่า 2 ใน 3 มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ โดยสถานที่มีการฝ่าฝืนการสูบบุหรี่มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ตลาดสด ตลาดนัด ร้อยละ 73.61 รองลงมาคือ สถานีขนส่ง ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ ท่าเรือ ร้อยละ 72.66 และสนามกีฬา ร้อยละ 67.88 สอดคล้องกับมีประชาชนรู้จักพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนดอย่างถูกต้อง ไม่ถึงครึ่งคือ ร้อยละ 45 และมีประชาชนเพียง ร้อยละ 46 เท่านั้น ที่เคยเห็นสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด

“ปัจจุบันมีการละเมิดกฎหมายทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันจากที่สาธารณะจำนวนมาก สสส. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทั้งหมด จะบูรณาการงานในเชิงยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบ โดยริเริ่มโครงการรณรงค์จิตอาสาขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย พร้อมเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” เพื่อเป็นเครื่องมือเชิงรณรงค์สังคม กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิ์ตนเอง สิทธิ์ของผู้อื่น และไม่ละเมิดสิทธิ์การมีสุขภาพดี โดยให้ความรู้กับประชาชนอย่างเข้มข้นในช่วง 2 เดือนนับจากนี้ และทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายของการรณรงค์ลดจำนวนผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองลงได้ ร้อยละ 10” ทพ.กฤษดา กล่าว

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” ดำเนินการอย่างครบวงจร คือ 1.On Ground จัดทำสติ๊กเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นพื้นที่ห้ามสูบ และรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการไม่ละเมิดสุขภาพผู้อื่น โดยจะมีการแจกสติ๊กเกอร์รณรงค์ตามจุดต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกทม. เพื่อเชิญชวนประชาชนและเจ้าของสถานที่ต่างๆ ให้เกิดจิตอาสาร่วมกันติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด 2.On Line พัฒนาแอปพลิเคชั่น “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” สามารถใช้ Smart phone ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้แล้ววันนี้ และ IOS (ดาวน์โหลด ได้ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้) โดยถ่ายรูปสติ๊กเกอร์รณรงค์ที่ติดตามสถานที่สาธารณะ และโพสรูป พร้อม check in ผ่านแอปพลิเคชั่น เชื่อมต่อกับ Facebook และ www.nonsmokersright.com ที่จะแสดงแผนที่เขตปลอดบุหรี่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะรณรงค์ทวงสิทธิ์ขอคืนพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ 100% และ 3.On Air โฆษณารณรงค์ทางโทรทัศน์ชุด “ไม่สูบ ก็เหมือนสูบ” ได้ชมพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ สื่อรณรงค์ต่างๆ เช่น สปอตโฆษณาทางวิทยุ ป้ายกลางแจ้ง ฯลฯ

“ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะทั้งหมด ทั้งพื้นที่ภายในอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่มีหลังคา ร้านค้า และร้านอาหาร ทั้งที่ติดเครื่องปรับอากาศและไม่ติด สถานที่โล่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา ตลาดต่างๆ และยานพาหนะสาธารณะทุกชนิด ทั้งนี้ การจัดพื้นที่สูบบุหรี่จะต้องไม่จัดไว้ในอาคาร และต้องคำนึงถึงปัจจัยคือ 1.ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่อยู่บริเวณข้างเคียง 2.ไม่อยู่บริเวณทางเข้า – ออก ของสถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และ 3.ไม่อยู่ในบริเวณที่เปิดเผย หรือเห็นได้ชัดแก่ผู้มาใช้สถานที่นั้น ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนสูบในที่สาธารณะห้ามสูบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มีโทษปรับ 2,000 บาท และฝ่าฝืนสูบบนยานพาหนะสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มีโทษปรับ 5,000 บาท” นพ.บัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจติดต่อขอรับสติ๊กเกอร์รณรงค์ได้ที่ โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด