ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ -นักลงทุนแห่เก็งกำไรหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลดันราคาพุ่งเกือบยกแผง หลังมีข่าวลือขอ ซื้อกิจการหนุน ขณะที่ผู้บริหารบางกอก เชน ฮอสปิทอล เผยยังไม่ได้รับการทาบซื้อกิจการจากกลุ่มโรงพยาบาล พร้อมเดินหน้าทำธุรกิจเอง มองเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ทำกำไร ปี 2558 "หมอบุญ" ยอมรับแนวโน้มควบรวม กลุ่มโรงพยาบาลมีสูง เพราะธุรกิจอยู่ลำพังเติบโตลำบาก

ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก หลังจากมีกระแสข่าวโรงพยาบาล ขนาดใหญ่เตรียมเข้าซื้อกิจโรงพยาบาล ขนาดกลาง-เล็ก ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก โดยหุ้นของบริษัท โรงพยาบาลเอกชล (AHC) ปิดที่ 33.75 บาท เพิ่มขึ้น 4.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 15.38% บริษัทโรงพยาบาล วิภาวดี (VIBHA) ปิดที่ 15.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.30% บริษัท ศรีชัยเวชวิวัฒน์ (VIH) ปิดที่ 5.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4.90%

บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ปิดที่ 8.15 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.24% บริษัทวัฒนาการแพทย์ ปิดที่ 60.25 บาท เพิ่มขึ้น  7.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 13.68% และบริษัทโรงพยาบาลมหาชัย ปิดที่ 200 บาท เพิ่มขึ้น 17 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.29%

นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH เปิดเผยกับ บริษัท ยังไม่ได้รับการทาบทามซื้อกิจการจากกลุ่มโรงพยาบาล หรือผู้ประกอบการรายใด ในประเทศ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเข้ามาซื้อกิจการ เพราะมีปัจจัยในเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งโครงสร้างผู้ถือหุ้น ของบริษัทแข็งแกร่ง หากนับเฉพาะกลุ่ม หาญพาณิชย์ ถือหุ้นเกิน 50%

"ยอมรับว่ามีนักลงทุนต่างชาติเคยเข้ามาเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นบริษัทแต่ยังไม่ได้สนใจ เพราะมองว่า สามารถเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยตัวเอง และปัจจุบันธุรกิจบริษัทอยู่ในช่วงของการเติบโต ไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ในจุดอิ่มตัว และยังอยากทำธุรกิจ โรงพยาบาลอยู่ จึงมองไม่เห็นเหตุจำเป็นที่จะขาย"

ปัจจุบันบริษัทมี โรงพยาบาลในเครือข่ายที่เปิดให้บริการทั้งหมด 10 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ 1 สาขาโรงพยาบาล เกษมราษฎร์ 5 สาขา โรงพยาบาลการุญเวช 4 สาขา โดยเน้นแนวทางการทำธุรกิจใน 2 รูปแบบ คือ คือ การเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาล และการสร้างโรงพยาบาลขึ้นเอง ตลาดด้านบริการการแพทย์ในประเทศไทยยังเติบโตได้อีกมาก

ด้านการลงทุนในโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล เซ็นเตอร์ ในช่วงปลายปีก่อน บริษัทมองว่า จะถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปี 2558 จะส่งผลให้กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น มุมมองของผู้บริหารมองว่าปี 2558-2559 จะเป็นปีทองของ บริษัทเพราะเริ่มเก็บเกี่ยวกำไรจาก เวิลด์เมดิคอล เซ็นเตอร์อย่างเต็มที่

สำหรับผลการดำเนินงาน บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกปีนี้ 1,326.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.5% ผลจากรายได้จากผู้ป่วยเงินสดเพิ่มขึ้น 16.2% และ รายได้จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 16.7%

รวมถึงบริษัทยังมีรายได้จากกลุ่ม บริษัท นวนครการแพทย์ 94.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.2% ของรายได้รวม ขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 1,065.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.5% ผลจากต้นทุนการขายและให้บริการเพิ่มขึ้น 20.6% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 139.2 ล้านบาท ลดลง 21.8%

ด้านนางพจนา มาโมช รองประธานกรรมการ บริษัทโรงพยาบาลเอกชล เปิดเผยว่า ตามที่ได้การสอบถามจากนักลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการของบริษัท บริษัทต้องขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหาร เครือโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า แนวโน้มการควบรวมกิจการในกลุ่มบริการทางการแพทย์มีสูง เพราะจากนี้ไปการเติบโตด้วยตัวเอง มีความลำบากมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตร โดยการเข้าซื้อกิจการ เพื่อเพิ่มอำนาจการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพของงานบริการได้มากขึ้น โดยเครือโรงพยาบาลธนบุรี วางแผนจะเติบโต โดยเน้นตลาดต่างประเทศ เพราะมองขนาดตลาดใหญ่กว่าไทยมาก จึงไม่มีความสนใจที่จะซื้อกิจการโรงพยาบาลในประเทศ ไม่ว่าจะในหรือนอกตลาดหุ้น

นอกจากนี้ เขายังบอกต่อว่า บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ ไม่เคยมาทาบทามเครือโรงพยาบาลธนบุรี เนื่องจากรู้จักกันดีอยู่แล้วในวงการ ซึ่งเครือโรงพยาบาลธนบุรี ยังคงเดินหน้าขยายกิจการเน้นต่างประเทศ ในทางกลับกันหากจะซื้อกิจการ คงไม่สนใจที่จะซื้อกิจการโรงพยาบาลในประเทศ

"โอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์ ผมมองว่า ตลาดต่างประเทศน่าสนใจ เพราะมีขนาดตลาดใหญ่กว่า ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเครือโรงพยาบาลธนบุรี ได้รุกธุรกิจไปในศจีน และมองว่า เป็นตลาดที่น่าสนใจ และอีกตลาดหนึ่ง คือพม่า เนื่องจากเพิ่งเปิดประเทศ จึงมีโอกาสที่ตลาดนี้จะเติบโตได้อีกมาก ล่าสุด ผมจึงตัดสินใจเข้าลงทุนสร้างโรงพยาบาลในพม่า คาดว่าจะเปิดให้บริการแห่งแรกปลายปี 2558"

เขากล่าวต่อว่า เป็นการนำร่องก่อนโรงพยาบาลอื่นๆ โดยเครือโรงพยาบาลธนบุรี กล้าเสี่ยง และมองเห็นโอกาสตลาดที่ยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ กฎหมายก็เอื้ออำนวย โดยการถือหุ้นในโรงพยาบาลที่พม่า ต่างชาติสามารถถือได้ 70% ซึ่งพม่าเขาปล่อยเต็มที่ บริษัทเชื่อว่า หากประสบความสำเร็จ ก็จะมีโรงพยาบาลในประเทศตามไปเปิดตลาดที่พม่าด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 มิถุนายน 2557