ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กเล็กมักกลืนยาสีฟันขณะแปรงฟัน เตือนพ่อแม่เอาใจใส่เพราะ ยาสีฟันที่มีกลิ่นหอม สีสวย จูงใจให้เด็กกลืนยาสีฟัน พร้อมแนะนำให้บีบยาสีฟันในปริมาณที่พอเหมาะตามช่วงวัย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการกลืนยาสีฟันในขณะแปรงฟันของเด็ก ว่า เด็กเล็กๆ มักกินหรือกลืนยาสีฟันเข้าไปในระหว่างการแปรงฟันเป็นประจำ เนื่องจากระบบควบคุมการกลืนยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถบ้วนยาสีฟันออกได้หมด หรือเด็กบางคนยังตั้งใจกลืนยาสีฟัน เพราะถูกใจรสชาติ กลิ่น และสีสันที่ผู้ผลิตผสมลงไปในยาสีฟันเพื่อจูงใจให้เด็กชอบแปรงฟันมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมการกลืนยาสีฟันแบบไม่ตั้งใจระหว่างแปรงฟันของเด็กส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก และปริมาณยาสีฟันที่ใช้ในแต่ละครั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะกลืนยาสีฟันมากกว่าครึ่งหนึ่ง และเด็กอายุ 3-6 ปี จะกลืนยาสีฟันประมาณหนึ่งในสามของปริมาณยาสีฟันที่ใช้ และการกลืนยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดฟันตกกระ เป็นปัญหาด้านความสวยงามของผิวฟันตามมา

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจทันตสุขภาพระดับประเทศ พ.ศ.2555 พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี มีฟันผุร้อยละ 51.7 และเด็กอายุ 5 ปี มีฟันผุร้อยละ 78.5 กรมอนามัยจึงมีมาตรการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง แปรงฟันให้เด็กด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นหรือในขวบปีแรก ซึ่งจะช่วยป้องกันฟันผุได้ถึงร้อยละ 30 แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กทุกครั้งที่แปรงฟัน เพื่อควบคุมการบีบยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสมตามช่วงวัย คือ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ให้ใช้ยาสีให้ใช้ปริมาณแค่แตะพอชื้น ส่วนเด็กยาอุ 3-6 ปี ให้ใช้ปริมาณครึ่งเซ็นติเมตรหรือเท่าเมล็ดข้าวโพด

"แม้ว่าเด็กจะสามารถแปรงฟันได้เอง แต่อาจไม่สะอาดพอ ผู้ปกครองจึงควรแปรงฟันซ้ำให้อย่างน้อย วันละครั้ง และควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เหมาะสมตามอายุเด็ก โดยเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ 500 พีพีเอ็ม เด็กอายุ 3-6 ปี ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ 500-1,000 พีพีเอ็ม และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ 1,000 พีพีเอ็ม แต่ปัจจุบันไม่มีกฎหมายควบคุมให้ผู้ผลิตยาสีฟันแสดงปริมาณสารที่ใช้บน บรรณจุภัณฑ์ ยาสีฟันบางยี่ห้อจึงไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ไว้ที่ฉลาก แต่หากผู้ปกครองต้องการทราบปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับเด็ก สามารถดูข้อมูลได้ที่เฟสบุคกลุ่มพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านทันตสุขภาพ สำนักทันตสาธารณสุข หรือโทรศัพท์ 02-590-4215” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว