ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เสนอ 3 ข้อ จัดสรรงบขาลงปี 58 1.ให้สปสช.จ่ายเงินและประเมินผลตามตัวชี้วัดที่ตกลงไว้กับสธ. ส่วนสธ.จะจัดบริการตามตัวชี้วัด 2.งบรายหัวควรจัดให้เหลือ 4 ประเภท ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพ และมาตรา 41 3.งบสธ.บริหารในรูปแบบเขตสุขภาพ บูรณาการงบจากทุกแหล่งทุนผ่านคกก.เขตสุขภาพ สธ.จัดสรรเงินให้เขต 80% เขตจะบริหาร 3 ประเภท ผู้ป่วยในบริหารโดยเขต ผู้ป่วยนอกบริหารโดยจังหวัด และงบสร้างสุขภาพโดยคปสอ. ส่วนงบที่เหลืออีก 20% กันไว้ส่วนกลาง ให้คคก.เขตทุกเขตมาพิจารณาเกณฑ์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเขตและหน่วยบริการ

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สาธารณสุขอำเภอผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอและผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อร่วมพิจารณา (ร่าง) ข้อเสนอการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบขาลง) ประจำปีงบประมาณ2558 (เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ให้บริการมีความสุขในการทำงาน

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา

เรื่องนี้ พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในฐานะประธานที่ประชุม ได้สรุปความคิดเห็นของที่ประชุมว่าที่ประชุมได้หารือและมีมติใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.ขอให้มีการทำข้อตกลงกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้ตัวชี้วัด (KPI) ระดับประเทศ โดย สปสช. ผู้ถือเงินทำหน้าที่จ่ายเงินและประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกันไว้กับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้จัดระบบบริการรายใหญ่ของประเทศ จะจัดบริการตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกัน

2.งบเหมาจ่ายรายหัวประชากร(งบ UC) ไม่ควรแยกหมวดรายการเป็นกองทุนย่อยๆ เช่นที่ผ่านมา ควรจัดงบให้เหลือแค่ 4 ประเภท ได้แก่ งบบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41

3.การบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข จะบริหารในรูปแบบเขตบริการสุขภาพและบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งเงิน ผ่านคณะกรรมการของแต่ละเขตบริการสุขภาพตามตัวชี้วัดระดับประเทศและตัวชี้วัดของพื้นที่

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะบริหารงบกองทุนฯ ในหมวดหลัก ตามภารกิจระดับเขต จังหวัด อำเภอ ส่วนการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในเบื้องต้นจะจัดสรรให้เขตบริการสุขภาพร้อยละ 80 โดยแต่ละเขตบริการสุขภาพจะบูรณาการงบทั้ง 3 ประเภท คือเงินบริการผู้ป่วยในบริหารโดยเขต เงินบริการผู้ป่วยนอกบริหารโดยจังหวัด และเงินบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารโดยคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)

ทั้งนี้ ให้แยกเงินสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับชุมชนบริหารโดยเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) ส่วนงบที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะกันไว้ส่วนกลาง และให้คณะกรรมการบริหารระดับเขตทุกเขตมาร่วมกันพิจารณาเกณฑ์และจัดสรรช่วยเหลือแก่เขตและหน่วยบริการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการทั้งระดับเขตจังหวัด และอำเภอหรือเครือข่ายบริการระดับอำเภอ จะทำหน้าที่ปรับเกลี่ยเงินงบประมาณ ลงไปยังพื้นที่โดยให้สอดคล้องกับต้นทุนบริการและต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง มีการจัดทำกรอบการทำงาน การใช้เงิน และควบคุมกำกับการทำงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามตัวชี้วัด ที่สำคัญแต่ละพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรเงิน จะต้องจัดทำแผนงานรองรับการใช้เงิน และมีตัวชี้วัดของพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพของพื้นที่นั้นๆ โดยมีผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ควบคุมกำกับในระดับเขตและจังหวัด เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แก้ปัญหาสุขภาพตรงปัญหาแต่ละพื้นที่ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกันไว้

ส่วนในมุมมองจากผู้ให้บริการระดับปฏิบัติการ นายสาคร นาต๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในฐานะนายกสมาคมหมออนามัยได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตนและสมาชิกมีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปดังกล่าวที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการ ซึ่งในช่วงระยะเวลาประมาณเกือบ 12 ปีที่ผ่านมานี้ได้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศครั้งใหญ่ภายในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาททุกโรค)ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบในระบบมากมาย อาทิเช่น ระบบการเงินการคลังที่เปลี่ยนไป มีการซื้อ-ขาย(ให้) บริการ เกิดระบบกองทุนต่างๆ มากมาย ทั้งกองทุนเล็ก/กองทุนใหญ่ และแต่ละกองทุนก็จะมีกองทุน/กิจกรรมย่อยๆแตกแขนงอีกมากมาย เกิดการทำงานระบบคู่สัญญาหลักและเครือข่าย คู่สัญญารองเป็นต้น

ซึ่งการที่กระทรวงสาธารณสุขจะปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้ ที่เน้นการกระจายอำนาจลงสู่เขตบริการสุขภาพ จังหวัดและอำเภอพร้อมปฏิรูประบบการเงินการคลังให้เอื้อกับการทำงานเพื่อบริการประชาชน และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่คิดหวังเรื่องกำไรและขาดทุน สถานบริการทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอทุกหน่วยงานมีงบประมาณในการจัดบริการเพียงพอทุกหน่วยงานอยู่รอด เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุข มีจิตอาสา และมีหัวใจความเป็นมนุษย์ มุ่งต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยตรงตามเป้าหมายหลักของกระทรวงฯ ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างเสมอภาค มีคุณภาพมาตรฐาน ตนและสมาชิกพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมขอฝากไว้กับผู้บริหารทุกระดับให้คำนึงถึงระบบธรรมาภิบาลในการบริหารและการตรวจสอบความโปร่งใส ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งทราบว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารงานและระบบคุณธรรมอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว

หมายเหตุ บทความเป็นดังกล่าวเป็นโฆษณาแฝงที่เผยแพร่ในนสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 ก.ค.57 ในชื่อ สธ.ปฏิรูประบบงานการเงินการคลัง จ่ายตรงไปพื้นที่ไม่แยกเป็นกองทุนย่อยๆ เพื่อดูแลประชาชนตรงสภาพปัญหาจริงพื้นที่ รายละเอียดตามไฟล์แนบด้านล่าง สำนักข่าว Health Focus เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจจึงนำมาเผยแพร่ต่อ