ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายหมออนามัยเสนอแนวทางพัฒนาปฐมภูมิ นำงบ PP ไว้ที่ DHS และโอนตรงที่พื้นที่ผ่านสสอ.ดีกว่าผ่านโรงพยาบาล เพราะรพ.สต.อยู่ใต้สังกัดสสอ. เสนอสปสช.และสธ.ลดบันทึกรายงานข้อมูลซ้ำซ้อน ลดแฟ้มข้อมูลเท่าที่จำเป็น ใช้ประโยชน์ได้จริง และต้องคืนข้อมูลให้ชุมชนรับทราบด้วย สร้างแรงจูงใจทำงานในพื้นที่ ทั้งความก้าวหน้า เลื่อนระดับ และอัตราเงินเดือน ส่วนการทำงานกับอปท. ให้มีเวทีประชาคมเพื่อเลือกกรรมการกองทุนตำบล และออกระเบียบการใช้เงินให้ชัดเจน

นายธาดา วรรธนปิยกุล

29 ก.ค. 57 นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมในโครงการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนจากเครือข่ายหมออนามัย พบว่า เรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่  ร่วมชี้ปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเครือข่ายหมออนามัยที่เป็นผู้ให้บริการในระบบบริการปฐมภูมิ และที่ประชุมในเบื้องต้นได้มีข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางที่หมาะสมที่จะร่วมผลักดันสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1.ด้านการดำเนินงานตามแนวทางมาตรฐานของบริการปฐมภูมิ ระบบบริการสุขภาพอำเภอควรจัดทำโครงสร้างเพื่อสร้างความเข้มแข็ง DHS โดยพัฒนา คปสอ.เดิมให้มีคุณภาพ ทั้งด้านคุณภาพบริการ ระบบงบประมาณ  ระบบ IT อัตรากำลัง  วัสดุ – ครุภัณฑ์และทีมงาน DHS ไม่ควรเปลี่ยนบ่อยเกินไป ควรจัด NODE รพ.สต.รองรับการพัฒนา DHS และกำหนดให้มีกฎหมายรองรับคณะกรรมการทั้งระดับเขต จังหวัด อำเภอ ตำบลจัดทำกรอบให้มีทิศทางชัดเจน กำหนดบทบาทหน้าที่ตามมาตรฐาน พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน นอกจากนี้ควรนำงบประมาณ PP ทุกอย่าง ไว้ที่ DHS / คปสอ.

อำนาจการอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณ ควรให้มีทั้ง ผอ.โรงพยาบาลชุมชนและสาธารณสุขอำเภอร่วมกัน และมีระบบบริหารจัดการการเงินที่มีประสิทธิภาพให้ลงถึงประชาชน สนองตอบปัญหาตามบริบทพื้นที่อย่างแท้จริง ส่วนงบประมาณดำเนินงานของพื้นที่ ให้โอนโดยตรงที่ รพ.สต.ไม่ผ่าน รพ.แม่ข่าย

สุดท้ายคือการสร้างแรงจูงใจในความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทั้งการเลื่อนระดับและอัตราเงินเดือนที่ไหลลื่นไม่มีติดเพดานเงินเดือนของข้าราชการ  เร่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการให้มีความครบถ้วนครอบคลุมในสาขาวิชาชีพที่สำคัญๆ รวมทั้งให้มีการจ้างเหมาบริการ ทั้งลูกจ้างตำแหน่ง รวมทั้งจัดสวัสดิการให้เหมาะสมแก่ค่าครองชีพปัจจุบัน

2.ด้านระบบข้อมูล รายงานที่เกี่ยวข้องกับบริการปฐมภูมิพบปัญหาในการบันทึกแฟ้มรายงานที่มีมากเกินไป  ให้บุคลากรต้องเร่งทำแต่ข้อมูลรายงานจนไม่มีเวลาออกชุมชน หากไม่ทำจะส่งผลต่อเงินสำรอง(เงินบำรุง)น้อย ทำให้มีการทำงานเพื่อแลกกับเงินที่จะได้มา บุคลากรจึงกลายเป็นหมออนามัยหน้าจอ เพื่อคีย์ข้อมูลนำเข้าอย่างเดียวเพื่อแลกกับเงินที่จะได้มาทำงาน  ฯลฯ  จนเป็นที่มาของคำว่า "เอาหมอหน้าจอคืนไป เอาหมออนามัยคืนมา" จึงได้มีข้อเสนอคือ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สปสช. และ สธ. ควรลดการบันทึกข้อมูลรายงานที่ซ้อนลง  ลดแฟ้มรายงานให้ทำเท่าที่จำเป็นและให้ใช้โปรแกรมในจัดการข้อมูล รายงานต่างๆ เป็นโปรแกรมมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้อย่างแท้จริง และ ให้มีการคืนข้อมูลให้ชุมชนรับทราบด้วย

3.ด้านกลไกการจัดการงบประมาณในระบบปฐมภูมิพบว่า งบประมาณที่ใช้ในการส่งเสริมป้องกันโรคที่จัดสรรที่ผ่าน   CUP ใช้ยาก มีกฎกติกามากเกินไป ให้สิทธิ์ทางประธาน CUP เป็นผู้พิจารณาอนุมัติแต่เพียงผู้เดียว บางโครงการไม่อนุมัติทำให้การทำงานไม่ราบรื่น ไม่สนองต่อปัญหาในพื้นที่ ส่วนการโอนเงินสู่หน่วยปฐมภูมินั้นมีความล่าช้ามาก นอกจากนี้เงินดำเนินการส่งเสริมป้องกันโรค (P&P) เข้าบัญชีรวมกับเงินบำรุงรพ. ทำให้การติดตามตรวจสอบยอดของเงิน P&P เป็นไปได้ยาก เกิดความสับสนระหว่างยอดเงินบำรุง และเงิน P&P อีกทั้ง เงินบำรุงของ รพ.สต.ในปัจจุบันมีน้อย หลายแห่งขาดสภาพคล่อง  พบปัญหายาเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณในการจัดซื้อ

ข้อเสนอและแนวทางที่เหมาะสมคือ ควรโอนเงินรายหัวสำหรับส่งเสริมป้องกัน(P&P)ลงสู่พื้นที่โดยตรง(หน่วยบริการปฐมภูมิ) เงินส่งเสริมป้องกันโรค(P&P) ควรโอนผ่านสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจะสะดวก รวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพมากกว่าโอนผ่านโรงพยาบาล  เนื่องจากหน่วยปฐมภูมิส่วนใหญ่จะอยู่ในการดูแลของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทำให้การกระจายงบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ควรมีคณะกรรมการกลางที่ประกอบไปด้วย สสอ. / รพ.สต./รพ./บุคคลภายนอก (DHS) เข้ามาดูแลการดำเนินการใช้งบประมาณในส่วนนี้ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับกรณีโอนเงินผ่าน CUP ควรแยกเงินออกจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล  ป้องกันการสับสนของเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลเพราะที่ผ่านมากว่าจะเบิกได้ช้ามาก และหากแยกบัญชีแล้ว ผู้อนุมัติจ่ายเงินควรมีสาธารณสุขอำเภอหรือตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย  เพื่อจะได้รับทราบการใช้จ่ายเงินว่าได้ดำเนินการไปเท่าไรแล้ว โครงการใดยังไม่ได้ดำเนินการจะได้เร่งให้ดำเนินการ ส่วนงบพัฒนาคุณภาพการให้บริการ (QOF) ควรโอนผ่านสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหรือหน่วยปฐมภูมิโดยตรง ไม่ต้องผ่านCUP ที่โรงพยาบาล เพราะปัจจุบันล่าช้ามาก  สำหรับงบประมาณที่ สปสช. จะสนับสนุนแต่ละกิจกรรม อาทิ การรณรงค์คัดกรองความเสี่ยงต่างๆ หรืองานด้านคุณภาพที่ต้องคีย์ผ่านโปรแกรม อยากให้ สปสช.จ่ายตรงลงสู่หน่วยปฐมภูมิ ไม่ต้องผ่านCUP นอกจากนี้ค่าตอบแทน/เงินเดือน และ งบ FIX COST ควรมาจากส่วนกลางในระดับประเทศจะเหมาะสมที่สุด ในส่วนของ Fixed Cost ของ รพ.สต.ควรมีการจัดสรรงบให้ ในส่วนของงบการพัฒนาบุคลากร ซึ่งที่ผ่านมาใช้งบประมาณที่มีอยู่เดิม และ ไม่ได้จัดสรรในส่วนนี้ ในการไปประชุม ฝึกอบรมสัมมนา หรือรับฟังการชี้แจงการทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการทำงาน ส่วนใหญ่จะให้เบิกจ่ายงบประมาณจากต้นสังกัด และ ควรมีการจัดระบบ การประชุม ฝึกอบรม และสัมมนาให้น้อยลงตามความจำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง

4.ด้านการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น  ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่ได้มาไม่ได้เป็นตัวแทนของชุมชนที่แท้จริง ขาดความรู้ ไม่ยึดถือตามกฎระเบียบฯ ซึ่งข้อเสนอแนะ คือ ควรกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ต้องผ่านการคัดเลือกจากเวทีประชาคม โดยมี อปท.เป็นเจ้าภาพหลักกรวมทั้งต้องผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ ให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่อย่างจริงจังและต่อเนื่องส่วนการบริหารงบประมาณของกองทุนฯปัญหาที่พบ ส่วนใหญ่เป็นระเบียบการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ไม่ชัดเจน ควรมีการเร่งรัดออกคู่มือหรือระเบียบในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดซื้อ-จัดจ้าง ที่ชัดเจนและมีความเป็นเอกภาพ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง. กระทรวงสธ. สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชน ได้ใช้เป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติ ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานของกองทุนฯ ต้องมีการกำหนดทิศทางการพัฒนา/การทำงานที่ชัดเจน

โดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (SRM) หรือแผนสุขภาพระดับตำบล ต้องมีการบูรณาการแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน  โดยให้ยึดถือตามกลุ่มวัยเป็นหลัก  แทนการยึดถือตามงาน/ภารกิจต่างๆของฝ่ายสาธารณสุขและควรเชิญ ผอ.รพ.สต. หรือผู้แทนของ รพ.สต. ร่วมเป็นผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ       

อย่างไรก็ตาม  สาระสำคัญและข้อเสนอที่ได้นี้ ทางเครือข่ายหมออนามัย จะนำไปขับเคลื่อน และผลักดัน ให้องค์กร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจะนำไปปรึกษาหารือกับเครือข่ายหมออนามัย ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์กร คือ มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย และ สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ซึ่งมีสมาชิกเป็นหมออนามัย บุคลากรสาธารณสุข สหวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงาน ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 878 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 10,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 5 หมื่นกว่าคน  เพื่อร่วมกันผลักดันให้เป็นตามข้อเสนอที่ได้มีการจัดประชุมความเห็นคิดเห็นกันจากตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาช่วยกันจัดทำข้อเสนอ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และการจัดการสุขภาพในระดับอำเภอ และทำให้ประชาชนได้รับบริการ ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงต่อไป