ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ทิศทางที่ถูกต้องของระบบสุขภาพ คือ 'เชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งกระจายอำนาจเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนดูแล'

ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเดินหน้าเพื่อปฏิรูปประเทศ  ในส่วนของระบบสาธารณสุขเอง ได้มีการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเช่นกัน โดยความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้  ด้วยการจัดแบ่งเขตการบริหาร หน่วยบริการในสังกัด ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.)  โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ออกเป็น  12 เขตบริการ ภายใต้ชื่อ "เขตบริการสุขภาพ"แต่ละเขตครอบคลุม 4-8 จังหวัด

การจัดแบ่ง "เขตบริการสุขภาพ" เป็นแนวคิดของการรวมบริหารจัดการทรัพยากรของหน่วยบริการ ทั้งในด้านกำลังคนและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและเพิ่มประสิทธิภาพ ของหน่วยบริการ โดยบริหารในรูปแบบ คณะกรรมการที่กำหนดให้ผู้ตรวจราชการเป็น "ซีอีโอเขต" หรือผู้บริหารสูงสุดระดับเขต

แม้ว่าการบริหารในรูปแบบเขตสุขภาพจะเดินหน้าไปบ้างแล้ว แต่ในส่วนของงบประมาณที่เป็นหัวใจสำคัญนั้นยังอยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอที่ สธ.เคลื่อนไหวก่อนหน้านี้  โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับรูปแบบการกระจายงบประมาณลงพื้นที่ จากเดิมที่ส่งเงินตรงไปยังหน่วยบริการ ให้ส่งผ่านไปยังเขตสุขภาพแทน

นอกจากนี้ การจัดสรรงบขาลงยังให้เหลือเพียง 4 กองทุนย่อยเท่านั้น คือ กองทุนผู้ป่วยนอก กองทุนผู้ป่วยใน กองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  และกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้ยุบกองทุนย่อยอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบริหารงบบริการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง และกองทุนผู้ป่วย ไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมองว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่กระทบต่อหน่วยบริการ ทำให้งบประมาณที่หน่วยบริการควรได้รับลดลง

แนวทางที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบการบริหารคนและงบประมาณนี้  ช่วงแรกดูจะได้รับการตอบรับจากทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  แต่จากเสียงคัดค้านที่ดังอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ฟากฝั่งของ สปสช.เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน  เครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ ชมรมแพทย์ชนบท และนักวิชาการด้านสาธารณสุขเองที่มองตรงกันว่า แนวทางที่ สธ.ดำเนินการอยู่นี้สวนทางกับทิศทางกระจายอำนาจ ที่เป็นการพัฒนาระบบสาธารณสุข ทำให้ คสช. เริ่มหันมาให้ความสนใจ

ทั้งนี้ เนื่องจากระบบบริหารดังกล่าว การสั่งการต่างๆ ยังอยู่ภายใต้ สธ. ผ่านการควบคุมเขตสุขภาพ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนในฐานะผู้รับบริการ

ส่วนด้านผู้ให้บริการอย่าง รพช.  ทางชมรมแพทย์ชนบทได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะการจัดการงบประมาณที่เขตจะเป็นการย้อนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณกลับไปในอดีต ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการล้มการปฏิรูปจัดสรรงบประมาณ ที่กระจายไปตามรายหัวประชาชนให้กับหน่วยบริการ กลายเป็นการ "ปฏิรวบ" มากกว่า "ปฏิรูป" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องบประมาณ รพช.ไม่ต่างจากอดีต

พร้อมกันนี้ยังกังวลเรื่องการบริหารงบประมาณที่ดำเนินการโดย สธ. เพราะแม้แต่การบริหารงบเงินเดือนยังสร้างความวุ่นวายจากการจัดทำข้อมูลงบเงินเดือนที่ผิดปกติ ทำให้การคำนวณงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. ของหน่วยบริการหลายแห่ง  โดยเฉพาะในส่วน รพช.และ รพ.สต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ลดลง ทั้งที่ยังคงบริการประชาชนเท่าเดิม จึงต้องมีการคำนวณงบประมาณกันใหม่

ในส่วนของนักวิชาการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) มองว่าการเดินหน้าปฏิรูปของ สธ.ยังขาดความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ  ที่ถูกระบุว่าเกิดจากการบริหารงบประมาณของ สปสช.ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสถานะการเงินของโรงพยาบาล ปัญหาการล้วงลูกตัดสินใจ ตั้งแต่ผู้บริหาร สธ.ทุกระดับ จนถึงแพทย์ และปัญหาการแย่งชิงเวลา ให้บริการของบุคลากร

ตอกย้ำด้วยท่าทีจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  ที่ได้สรุปทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยจากเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 โดยมีมติว่า ระบบสุขภาพปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่  ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การรวมศูนย์อำนาจในการบริหารที่ สธ.ดำเนินการอยู่นี้จึงไม่ใช่คำตอบ และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในระบบสุขภาพมากขึ้น

ดังนั้นทิศทางที่ถูกต้องของระบบสุขภาพ คือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งการกระจายอำนาจ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนเกี่ยวข้องดูแล จากความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ คสช.ต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ มากกว่าเดิม และตั้ง "คณะกรรมการประสานระบบประกันสุขภาพ" ที่มี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นประธาน พร้อมรายชื่อกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ รวมทั้งเพิ่มองค์ประกอบให้มีตัวแทนภาค ประชาชนด้วย

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้  ส่งผลให้การดำเนินการปฏิรูป "เขตสุขภาพ" ของ สธ. โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณมีแนวโน้มต้องชะงักลง  เพราะดูเหมือนว่าหลายฝ่ายแม้แต่ คสช.เองจะเริ่มเห็นว่าเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ผิดทิศผิดทาง จนต้องรีบหันหัวเรือ กลับไปตั้งลำใหม่ เพื่อให้ระบบสุขภาพของประเทศเดินไปสู่ทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

 

 เผยแพร่ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 สิงหาคม 2557