ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอเจตน์’ ห่วงแช่แข็งงบบัตรทอง พร้อมเปิดข้อมูล 4 ปี งบรายหัวขยับเพิ่มน้อยมากแค่ 140 บาท หวั่นส่งผลต่อ รพ.ลดคุณภาพงานบริการ กระทบรักษาผู้ป่วยและดูแลประชาชน 48 ล้านคน ระบุไม่ควรกดงบเพื่อใช้จ่ายด้านอื่น เสนอปรับเพิ่ม 3,060 บาทต่อคนต่อปีตาม สปสช.ร้องขอ แถมย้ำภาพรวมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลประเทศต่ำมากแค่ 3.9% ของจีดีพี   

24 ส.ค.57 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ได้แปรญัตติในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในส่วนของงบประมาณรักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ว่า ภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อกระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เริ่มดำเนินการในปี 2545 โดยได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ 1,202 บาทต่อคนต่ปี ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับงบเหมาจ่ายรรายหัวปี 2546 เพราะขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มโครงการ รัฐบาลขณะนั้นจึงต้องการดูว่างบประมาณที่จัดสรรลงไปนั้นเป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่ เป็นเรื่องการบริหารจัดการ

นพ.เจตน์ กล่าวว่า หลังจากนั้นในปีถัดมางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวได้มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงบประมาณและรัฐบาล โดยแต่ละปีมีการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ปีละ 5-10% อย่างไรก็ตามเมื่อดูการปรับเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวย้อนหลังในช่วง 12 ปี นอกจากการคงงบประมาณปี 2545-2546 ข้างต้นแล้ว ในปี 2556 งบประมาณถูกกำหนดให้อยู่ในอัตราคงที่เดียวกับปี 2555 คืออยู่ที่ 2,755 บาท โดยมีการปรับเพิ่มอีกครั้งในปี 2557 ในอัตรา 2,895 บาทต่อคนต่อปี และหากในปี 2558 ถูกกำหนดให้คงงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในอัตราเดียวกับปี 2558 นั่นหมายความว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา คือปี 2555-2558 ระบบหลักประกันสุบภาพถ้วนหน้าที่ใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลคนทั้งประเทศ มีการปรับเพิ่มงบประมาณเพียงแค่ 140 บาท หรือ 5.08% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เท่ากับว่า 4 ปี มีการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวเพียงแค่ครั้งเดียว   

ทั้งนี้การที่งบเหมาจ่ายรายหัวมีการปรับเพิ่มน้อยได้ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล เนื่องจากแต่ละปีโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะได้รับการชดเชยงบเงินเดือนข้าราชการที่ปรับเพิ่ม 6% แล้ว แต่ยังมีภาระต้นทุนอื่นที่ขยับเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ค่าเงินลดลง การปรับเพิ่มค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการปรับเพิ่มค่าตอบแทนตามนโยบายรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาท และการปรับเพิ่มค่าตอบแทน 300 บาทต่อวัน เหล่านี้ทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระ แม้ว่าจะสามารถบริหารโรงพยาบาลได้ตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร แต่ก็อยู่ในภาวะที่ต้องรัดเข็มขัดส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน นอกจากนี้โรงพยาบาลยังจะเน้นการให้บริการที่เกี่ยวกับกับรายได้ที่จะได้รับเพิ่มเท่านั้น โดยจะตัดบริการที่ไม่สร้างรายได้ลงเพื่อลดต้นทุน ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับบริการคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น

“วิธีงการให้งบประมาณทางสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้ต่ำ ถ้าหากไม่เพียงพอก็จะไปเพิ่มในปลายปีด้วยการเบิกจากงบกลางแทน ซึ่งในปี 2558 นี้ สำนักงบประมาณยังปรับลดงบกลางเหลือเพียง 72,000 ล้านบาท จากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 72,500 ล้านบาท จึงอาจเป็นปัญหาในการขอเพิ่มในภายหลังได้ ทั้งนี้มองว่าการจัดสรรงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลแบบนี้ไม่ถูกต้อง แต่ควรจัดสรรงบให้เพียงพอตั้งแต่แรกมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่หน่วยบริการลดคุณภาพการบริการลง จนอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงและเสียหายในภายหลัง” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าว และว่า ในการบริหารโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายหลักมี 2 อย่าง คือ 1.ค่ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องซื้อ หากค้างจ่ายไว้ บริษัทยาก็จะไม่จัดส่งยา และ 2.ค่าตอบแทนบุคลากร ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ซึ่งโรงพยาบาลต้องนำงบประมาณที่ได้รับมาดำเนินการใน 2 ส่วนนี้ก่อน 

ต่อข้อซักถามว่า ผลจากการคงงบประมาณในปี 2555-2556 มีผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร นพ.เจตน์ กล่าวว่า ผลกระทบยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน เพียงแต่สถานการณ์การเงิน โดยเฉพาะเงินบำรุงของโรงพยาบาลเริ่มลดลง ซึ่งหากในปี 2558 นี้ยังคงงบเหมาจ่ายรายหัวเท่าปี 2557 เชื่อว่าผลกระทบจะชัดเจนขึ้น เพราะนอกจากการถูกแช่แข็งงบแล้ว โรงพยาบาลยังไม่สามารถนำค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยในงบเหมาจ่ายรายหัวได้ ที่เป็นผลจากการควบคุมงบประมาณโดยกรมบัญชีกลางอย่างต่อเนื่อง 6 ปี โดยปี 2558 จะเป็นปีที่ 7 ที่มีการจำกัดค่ารักษาพยาบาลอยูที่ 60,000 ล้านบาท ดังนั้นในงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ควรปรับเพิ่มตามอัตราที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอที่ 3,060 บาท

“งบ 114,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลรักษาพยาบาลคนทั้งประเทศ 48 ล้านคนถือเป็นเงินที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่กว่า 3,000 บาทเท่านั้น และหากดูค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั้งประเทศอยูที่ 3.9 ของจีดีพี ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำและยังสามารถปรับเพิ่มได้อีก ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณอย่างที่หลายฝ่ายกังวล นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ยังต่ำกว่ามาก โดยอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยูที่ 13% ของจีดีพี ดังนั้นไม่จำเป็นที่เราต้องไปกดงบค่ารักษาพยาบาลไว้” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าว และว่า ทั้งนี้การกดงบประมาณรักษาพยาบาลไว้เพื่อนำไปใช้ด้านอื่น จะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล โดยเฉพาะในด้านคุณภาพบริการ ซึ่งมองจากข้างนอกอาจมองไม่ออก แต่เมื่อเกิดวิกฤตแล้วถึงวันนั้นอาจจะสายเกินไป ดังนั้นงบเหมาจ่ายรายหัวรัฐไม่ควรเสียดายและควรปรับเพิ่มอย่างที่ควรจะเป็น

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ตามบทบาทของ สนช. สส. และ สว. ไม่สามารถปรับเพิ่มงบได้ มีแต่จะปรับลดงบ ซึ่งในกรณีของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นการปรับเพิ่ม ทาง สปสช.คงต้องตั้งเรื่องเพื่อเสนอไปยัง ครม.ที่อยู่ระหว่างจัดตั้งขึ้นพิจารณา ทั้งนี้ขอให้เพิ่มงบประมาณให้กับ สปสช.เพื่อที่จะจัดสรรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากเงิน 6,000 ล้านบาทจัดสรรเพิ่ม ไม่ใช่เงินจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพบริการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับโดยตรง