ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงคนไทย กินผักผลไม้น้อย ส่งผลให้ป่วยป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น เร่งกระตุ้นคนไทยกินผักผลไม้ให้เพียงพอ ครบ 5 สี พร้อมย้ำล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งความดัน โลหิตสูง เบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง สาเหตุหนึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน พฤติกรรมการบริโภค ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจากรายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย ในปี 2551-2552 พบว่าสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้คนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงโดยรับประทานผักและผลไม้เพียงพอไม่ถึงครึ่ง หรือเพียง ร้อยละ 17.7 ลดลงจากร้อยละ21.9 ในปี 2546-2547 และภาคกลางบริโภคผักน้อยที่สุดร้อยละ 14.45 โดยโรคเรื้อรังที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม 4 โรคสำคัญในรอบ 5 ปี (2549-2553) พบผู้ป่วยกว่า 3 ล้านราย ซึ่งทุกโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันดับหนึ่งคือความดันโลหิตสูง พบผู้ป่วย 1.7 ล้านราย อันดับสอง เบาหวานพบ 8.8 แสนราย อันดับสาม โรคหัวใจขาดเลือดพบ 1.7 ล้านราย และอันดับสี่ โรคหลอดเลือดสมองพบ 1.4 แสนราย

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไป ใน 1 วัน ควรกินผักให้ได้มื้อละอย่างน้อย 2 ทัพพี ควบคู่กับผลไม้ทุกมื้อเป็นประจำ โดยผักควรกินให้ครบ 5 สี ได้แก่ 1) สีเขียว ให้สารคลอโรฟีลล์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ขจัดฮอร์โมน เป็นสาเหตุของมะเร็งบางชนิด เช่น ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้งผักกาดหอม ผักคะน้า แตงกวา 2) สีเหลือง ให้สารเบต้าแคโรทีน และฟลาโวนอยส์ ช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจ หลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงสายตา เช่น แครอท ฟักทอง มันเทศ 3) สีม่วง ให้สารแอนโทไซยานิน ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมองยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ เช่น กะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง ดอกอัญชัน 4) สีขาว ให้สารอะไลซิน สร้างเซลล์ให้แข็งแรง ยับยั้งการเกิดเนื้องอกช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมากต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดปริมาณไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตป้องกันเส้นเลือดอุดตัน รักษาระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กระเทียม หัวไชเท้า ถั่วเหลือง และ 5) สีแดง มีสาร ไลโคพีน อยู่ในปริมาณสูง มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอี 100 เท่า และมากกว่ากลูตาไธโอนถึง 125 เท่าสารไลโคพีนช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งปอด และยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเยื่อบุมดลูก เช่น มะเขือเทศ หอมแดง พริกหวาน เป็นต้น

"ทั้งนี้ ก่อนกินผักและผลไม้ทุกครั้ง ควรล้างด้วยน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง เพื่อลดสารพิษและย่าฆ่าแมลงที่ตกค้าง จากนั้นแช่ผัก ผลไม้ในน้ำผสมเกลือ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียม ไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15-30 นาที แล้วล้างน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาที ” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว