ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แลกเปลี่ยนผลงานเด่น “บริการปฐมภูมิ” สู่เวทีการประชุมเอเปค กรุงปักกี่ง ประเทศจีน ชี้เป็นกลไกสำคัญผลักดัน “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ประสบความสำเร็จ เหตุช่วยประชาชนเข้าถึงบริการ ทั้งรักษาพยาบาลเบื้องต้น ฟื้นฟูสรรถภาพ รวมถึงการส่งเสริมและป้องกันโรค พร้อมปรับการบริหารงบปี 58 เพิ่มประสิทธิภาพหนุนหน่วยบริการปฐมภูมิยิ่งขึ้น   

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมเอเปค APEC (Asia-Pacific Economic cooperation) หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศในกลุ่มเอเปค ด้วยกัน ภายใต้หัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งของการให้บริการปฐมภูมิในบริบทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (Primary Health Care Strengthening in the Context of UHC) เป็นการเจรจาด้านนโยบายในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งในอดีตการประชุมเอเปค โดยเฉพาะการประชุมระดับผู้นำประเทศปีละหนึ่งครั้งจะไม่มีประเด็นเรื่องสุขภาพ จะหารือเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์สเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้ทั่วโลกตระหนักต่อปัญหาสุขภาพมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลก จึงได้บรรจุเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในการประชุม โดยจะมีการจัดทำข้อเสนอด้านสุขภาพร่วมกัน

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับการประชุมเอเปค ครั้งนี้ มีการประชุมหัวข้อสำคัญ คือ การหารือด้านนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประแทศเอเปค (APEC Health Working Group Policy Dialogue on Universal Health Coverage in Asean -Pacific Region) ที่แบ่งการประชุมออกเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ 1.การปฎิรูปการคลังสุขภาพ 2.การสร้างความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิในบริบทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ 3.การใช้ประโยชน์จากการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์ทางเลือก โดยตนได้ร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อที่ 2.ทั้งนี้จากการกำหนดห้วข้อการประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ ได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งในบริการระดับปฐมภูมิที่นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง

ที่ผ่านมา สปสช.ได้สนับสนุนการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งบริการระดับปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่าหน่วยบริการปฐมภูมิอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหัวใจสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา การฟื้นฟู และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ ได้รับการติดตามดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับงานบริการระดับปฐมภูมิที่ สปสช.ดำเนินนโยบายที่ผ่านมา ได้แก่ การจัดตั้ง “งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง” ที่มุ่งป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่กำลังเป็นปัญหาประเทศจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

“งบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ผู้ป่วยเฉียบพลันที่ต้องได้รับการฟื้นฟู รวมถึงผู้สูงอายุ” ที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง นอกจากนี้ สปสช.ยังได้จัดตั้ง”กองทุนสุขภาพระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น” ที่ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมเป็นกลไกสนับสนุนงานดำเนินงานของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิให้เข้มแข็ง

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับในปี 2558 นี้ สปสช.ยังคงเดินหน้าสนับสนุนบริการปฐมภูมิต่อเนื่อง เป็นทิศทางเดียวกับที่นานาประเทศได้มุ่งพัฒนาศักยภาพ โดยปีงบประมาณ 2558 นี้ สปสช.จึงได้มีการปรับการบริหารงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนงานปฐมภูมิยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นภารกิจที่สำคับของ สปสช