ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถิติทั่วโลกผู้ป่วยร้อยละ 10 เสียหายจากความผิดพลาดทางการแพทย์ สรพ. และสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ทั่วประเทศ ปรับใช้หลักสูตรองค์การอนามัยโลกพัฒนาระบบความปลอดภัย  ป้องกันความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไทย ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกระบุ ผู้ป่วยร้อยละ 10 ได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากความผิดพลาดทางการแพทย์ ชี้เป็นปัญหาเชิงระบบ หนุนไทยปลูกฝังบุคลากรยึดความปลอดภัยเป็นหัวใจคุณภาพบริการ ด้านองค์กรวิชาชีพสุขภาพร่วมลงนามปฏิญญาจะบูรณาการการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช และพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สรพ. จึงได้นำหลักสูตรพัฒนาระบบความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือ Patient Safety ขององค์การอนามัยโลก มาสนับสนุนให้สถาบันการศึกษานำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกัน ได้ร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือที่จะนำเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเข้าไปบูรณาการในการเรียนการสอน และพร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาระบบดังกล่าวโดยมีสรพ.เป็นองค์กรประสานงาน

ทั้งนี้ ในการตรวจรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล สรพ.ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย โรงพยาบาลใดขาดมาตรการป้องกันความผิดพลาดหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อผู้ป่วยจะไม่ผ่านการประเมินและไม่ได้รับการรับรอง ที่ผ่านมาสรพ.ได้รับข้อเสนอแนะจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ทำการพัฒนาระบบความปลอดภัยในบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่ก่อนที่บุคลากรจะสำเร็จการศึกษา เพื่อที่เมื่อจบออกมาแล้วจะได้สามารถเชื่อมต่อกับการทำงานได้ทันที ซึ่งจากการสำรวจขัอมูลสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ต่างๆ พบว่า ทุกสถาบันเห็นว่าควรมีการเรียนการสอนเรื่องระบบความปลอดภัยของผู้ป่วย แต่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปัจจุบัน และร้อยละ 98 % สนับสนุนให้ สรพ.เป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้

ดร.แอคเนส  ลิโอซากอส (Dr.Agnes Leotsagos) ผู้เชี่ยวชาญชาญจากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ระบบความปลอดภัยของผู้ป่วยครอบคลุมระบบที่จะป้องกันอันตรายหรือผลที่ไม่พึงประสงค์กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนการวินิจฉัยโรคและการรักษาพยาบาล จากสถิติทั่วโลกผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ต้องได้รับอันตรายจากความผิดพลาดซึ่งอาจเกิดจากคน เครื่องมือ หรือระบบบริหารจัดการ หลักสูตรขององค์การอนามัยโลกเป็นหลักสูตรกลางสามารถปรับใช้ได้กับทุกประเทศ มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย แนวทางการรายงานความผิดพลาด แนวทางการเรียนรู้และป้องกันปัญหาเกิดซ้ำ ภาวะผู้นำกับการสร้างความปลอดภัยไปจนถึงการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

แพทย์หญิงปิยะวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำให้บุคลากรมีความมั่นใจที่จะเปิดเผยกรณีความผิดพลาดและนำมาศึกษาทบทวนเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วย ญาติ และสังคมโดยรวมต้องปรับทัศนคติ ว่าความผิดพลาดทางการแพทย์เป็นปัญหาเชิงระบบ ซึ่งไม่เพียงแต่ฝ่ายผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ผู้รับบริการและญาติ และภาคส่วนอื่นก็จะได้รับการหนุนนำให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ผู้ให้บริการก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน