ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมแพทย์ชนบท เสนอ รมว.สธ. เปลี่ยนระบบเขตสุขภาพ เป็น “จีไอเอส” เน้น เพิ่มศักยภาพรพ.ชุมชนให้มีแพทย์เฉพาะทางรักษาโรคยากระดับต้น ลดการส่งต่อรพ.จังหวัด หลังถูกใช้เป็นข้ออ้าง สถานที่แออัด แล้วต้องขยายสถานที่ให้ใหญ่ขึ้น

28 ก.ย.57 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ชมรมแพทย์ชนบท พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน ได้เข้าพบกับนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นข้อเสนอ แนวทางการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องวันนั้นคือให้มีการยกเลิกนโยบายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นระบบการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน หรือ จีไอเอสเพราะนโยบายเขตสุขภาพลักษณะที่ดำเนินการอยู่นี้แอบแฝงด้วยการรวบอำนาจ ไม่ได้มีอารมณ์ในการจัดระบบบริการที่แท้จริง แต่เป็นการแย่งชิงทรัพยากรไปอยู่ในส่วนกลางมากกว่าในขณะที่นโยบายของรัฐบาลขณะนี้ส่วนใหญ่ต้องการการกระจายอำนาจในการปฏิรูประบบราชการ เพื่อสร้างความเจริญให้กับทุกท้องที่ ซึ่งจะสอดคล้องกับระบบจีไอเอสมากกว่า

ระบบจีไอเอสจะวางระบบให้พื้นที่ได้รับการเจริญเติบโตตามสภาพพื้นที่ ให้เหมาะสม เช่น ในอดีตการปกครองจะเน้นให้แต่ละจังหวัดต้องมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด 1 แห่ง และกระจายทรัพยากรลงไปตรงนั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงไม่ได้กระจายอย่างเสมอภาคกัน อีกทั้งศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลก็ไม่เท่ากัน บางจังหวัดโรงพยาบาลชุมชนเจริญมากกว่าโรงพยาบาลจังหวัดด้วยซ้ำ เช่น อำเภอหาดใหญ่เจริญมากกว่า ตัวจังหวัดสงขลา หรือในตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็มีความเจริญน้อยกว่าอำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นเพียงโรงพยาบาลชุมชนแต่ศักยภาพการให้บริการเทียบเท่าโรงพยาบาลศูนย์ อย่างนี้เป็นต้น หรือแม้แต่โรงพยาบาลชุมชนก็ไม่ได้เจริญเหมือนกันทุกอำเภอ คือแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์กลางที่แตกต่างกันไป

ดังนั้น สูตรที่ตนคิดนั้นจะแบ่งการทำงานของสถานพยาบาลออกเป็น 3 ชั้น คือ 1. ชั้นต้นคือระบบสถานีอนามัยให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้านเวชกรรมสังคม เวชปฏิบัติครอบครัว ไม่จำเป็นต้องมีแพทย์ไปประจำ มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอัตราที่คิดตามรายหัวประชากร 2. โรงพยาบาลชุมชน หรือสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ ควรจัดให้มีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก เช่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ แพทย์รักษาโรคเฉพาะทาง ให้เป็นแพทย์ศัลยศาสตร์ทั่วไป แพทย์ศัลยศาสตร์กระดูก สูตินรีแพทย์ เป็นต้น รวมถึงแพทย์สาขารองซึ่งมีอัตราการเจ็บป่วยไม่มาก เช่น แพทย์โสต ศอ นาสิก (ตา หู คอ จมูก) 3. โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปประจำจังหวัด คอยรับส่งต่อผู้ป่วยโรคยากๆ ที่โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถรักษาได้ เป็นต้น

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อแบ่งอย่างนี้แล้ว ยกตัวอย่างโรงพยาบาลชุมแพ เมื่อคิดตามฐานประชากรพบว่าควรจะมีแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อย 30 คน เพื่อดูแลประชาชนในอำเภออื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง อำเภอใกล้เคียงที่ที่มีเพียงแพทย์เฉพาะทางธรรมดา เช่นอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งแม้ว่าจะอยู่คนละจังหวัดแต่ก็มีพื้นที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลชุมแพมากกว่า ก็ให้มารักษาที่นี่แทนจะเกิดประสิทธิภาพเพราะคนไม่ต้องเดินทางไกล และหากเป็นโรคที่เกินความสามารถของรพ.ชุมแพ ก็ต้องเอาคนเหล่านั้นไปขึ้นทะเบียนกับรพ.ศูนย์

ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวต่อว่า การจัดแบ่งการทำงานเป็นรูปแบบอย่างนี้จะเป็นการเพิ่มแพทย์เฉพาะทางให้กับโรงพยาบาลระดับกลางและระดับสูง ซึ่งโรงพยาบาลที่ถูกกำหนดให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกพัฒนาไปในแนวทางนี้ ไปใช้ข้อมูลเขตสุขภาพและส่งแพทย์เฉพาะทางเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไปยังโรงพยาบาลจังหวัดหมด โรงพยาบาลชุมชนก็ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้เท่ากับความสามารถที่มีต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัดตลอด จนเกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

“เรากำลังจะบอกว่าของเดิมที่มีอยู่เราไม่ได้ไปลดทอนลง แต่เนื่องจากแพทย์ทั้งประเทศยังขาดอยู่ 20 คน แต่โรงพยาบาลจังหวัดนั้นเกินกรอบ แทนที่จะไปเติมโรงพยาบาลจังหวัดที่คนเต็มแล้ว ก็ให้เอาไปเติมสิ่งที่ขาดในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้สามารถบริการรักษาคนไข้ได้ เพื่อลดการหลั่งไหลเข้าไปที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งในอนาคตข้างหน้ายังจะทราบด้วยว่ากำลังคนเกิน ซึ่งระบบอย่างนี้ทำมาตั้งแต่ 2546 ถ้าไม่ทำระบบอย่างนี้ไว้ แต่ไปมุ่งเน้นที่เขตสุขภาพจะกลายเป็นว่าไม่มีใครอยากทำงานเรื่องเวชปฏิบัติครอบครัว แพทย์ในรพ.ชุมชนแทบจะไม่มีคนทำงานเลย และไปผูกโยงกับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายด้วยยิ่งทำให้แพทย์ไม่อยากไปอยู่ในชนบท เพราะอยู่ในเมืองได้มากกว่าทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว และว่า นพ.รัชตะ ก็เห็นปัญหาควรได้รับการแก้ไข แต่เนื่องจากไม่มีเวลาจึงไม่ได้คุยในรายละเอียด