ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจเด็กไทยอายุ 6 เดือน-12 ปี ประสบปัญหาภาวะโภชนาการเกิน เข้าข่ายโรคอ้วนถึงร้อยละ 20 หรือมีประมาณ 2 ล้านคน หากเป็นเด็กผู้หญิง มีแนวโน้มโตเป็นสาวก่อนวัย ชี้อาจกระทบกับความสูงในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากโครงสร้างกระดูกหยุดการเจริญเติบโต แนะให้ออกกำลังกายประเภทยืดตัว เช่นว่ายน้ำ เล่นบาสเก็ตบอล ปรับพฤติกรรมการกิน ลดกินอาหารหวาน มัน เพิ่มผักผลไม้

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันเด็กหญิงแห่งโลก (International Day of the Girl Child) เพื่อให้ทั่วโลกรณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิและโอกาสสำหรับเด็กหญิง ให้ได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การศึกษา รวมทั้งการพัฒนาด้านสุขภาพด้วย สำหรับประเทศไทย ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาสุขภาพประชาชนรายกลุ่มวัย 5 กลุ่ม ได้แก่ สตรีและเด็กปฐมวัย 0-5 ปี เด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปี วัยรุ่น 15-21 ปี วัยทำงาน 15-59 ปี วัยสูงอายุและผู้พิการ ซึ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการของกรมวิชาการต่างๆ ในสังกัดและหน่วยงานนอก โดยมีแผนการจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า รายงานของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2556 ประเทศไทยมีประชากรอายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 11 ล้าน 7 แสนกว่าคน เป็นเด็กชาย 5 ล้าน 6 แสนกว่าคน เป็นเด็กหญิง 6 ล้าน 1 แสนกว่าคน ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้พบว่า เด็กไทยกำลังประสบปัญหาด้านโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะโรคอ้วน ข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กไทยอายุ 6 เดือน ถึง 12 ปี โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลปี 2555 พบว่าเด็กไทยร้อยละ 20 หรือประมาณ 2 ล้านคน มีน้ำหนักเกินมาตรฐานเข้าข่ายโรคอ้วน จากพฤติกรรมการบริโภคและได้รับสารอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าโรคอ้วนมีผลต่อความสูงและการเจริญเติบโตของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วกว่าเด็กทั่วไป หัวกระดูกที่เป็นก้านยาว คือกระดูกแขนและขา จะปิดเร็วกว่ากำหนด ทำให้โครงสร้างกระดูกหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัยอันควร จะมีผลให้เด็กกลุ่มนี้เตี้ยกว่าเด็กปกติทั่วไป โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายควบคุม ลดปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในกลุ่มเด็ก 5 – 14 ปี เหลือไม่เกินร้อยละ 10

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โดยทั่วไปเด็กหญิงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่ออายุประมาณ 8 ขวบ เริ่มเป็นสาวอายุประมาณ 9-10 ขวบ และมีรอบเดือนอายุประมาณ 11-15 ปี แต่เด็กผู้หญิงที่อ้วน มีแนวโน้มจะเป็นสาวเร็วกว่าเด็กทั่วไป คือมีเต้านมโต มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ตรงกันข้ามเด็กผู้หญิงที่ผอม จะเป็นประจำเดือนช้ากว่า สาเหตุที่เด็กผู้หญิงอ้วนเป็นสาวเร็ว มีหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุคือความผิดปกติของสารเลปติน ( Leptin) สารชนิดนี้ สร้างมาจากเซลล์ไขมัน หากมีเซลล์ไขมันมาก จะสร้างสารชนิดนี้ออกมามาก และสารจะไปกระตุ้นต่อมในสมองที่ควบคุมกระบวนการกิน และกระตุ้นฮอร์โมนเจริญเติบโต ทำให้เด็กเป็นสาวเร็ว สรีระภายนอกเป็นสาว แต่จิตใจยังเป็นเด็ก ผู้ปกครอง พ่อแม่ ต้องให้การดูแลใกล้ชิด

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การเป็นสาวก่อนวัย ไม่ใช่เรื่องอันตรายถึงชีวิต แต่ที่น่าห่วงคือ จะมีผลต่อความสูงของเด็กด้วย โดยตามทฤษฎีทางการแพทย์พบว่า เด็กที่เป็นหนุ่มหรือเป็นสาวเร็ว จะมีกระดูกที่แก่และปิดเร็วโดยเฉพาะกระดูกส่วนยาวคือกระดูกแขน และขา ซึ่งเป็นผลมาจากผลของฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ในระยะแรกๆ เด็กเหล่านี้จะดูสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ต่อมาเมื่อกระดูกปิด จะหยุดสูงเร็วกว่ากำหนด อาจทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่เตี้ยในที่สุด เด็กกลุ่มนี้อาจเปรียบได้กับ “ม้าตีนต้น” กล่าวคือ “ออกตัว” เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าเพื่อนๆ และ “เข้าสู่เส้นชัย” หรือหยุดสูงเร็วกว่าเพื่อนๆด้วยเช่นกัน

“ขอแนะนำให้ผู้ปกครอง ควรเลี้ยงลูกให้มีน้ำหนักตัวเหมาะสม ดูแลอาหารการกินลดอาหารรสหวาน หรืออาหารที่มีไขมันมาก ฝึกให้เด็กกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ให้เล่นตามวัย เด็กที่มีความเสี่ยงจะอ้วนง่ายกว่าเด็กทั่วไปคือ เด็กที่มีพ่อหรือแม่อ้วน ลูกมีโอกาสอ้วน 4-5 เท่าตัว หากพ่อแม่อ้วนทั้งคู่ ลูกจะมีโอกาสอ้วนสูงถึง 14 เท่าตัว เนื่องจากพ่อแม่จะดูแลอาหารการกินความเป็นอยู่ของลูกเหมือนที่ตัวเองปฏิบัติ ลูกจึงมีเสี่ยงมีน้ำหนักตัวอ้วนเหมือนพ่อแม่” นพ.พรเทพกล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีลูกผู้หญิงอายุ 7-8 ปี แล้วมีรูปร่างอวบหรืออ้วน รวมทั้งสูงเร็ว ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อดูแลรักษาและประเมินอายุกระดูก สำหรับการพัฒนาความสูงของเด็กให้สมวัย มีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงชั้นประถมศึกษาที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเติบโตเร็วในช่วงมัธยมศึกษาที่ 1 จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ เล่นบาสเก็ตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้ รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ 5 หมู่และหลากหลาย รวมทั้งเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ พร้อมดื่มนมทุกวัน กรมอนามัยตั้งเป้าภายในพ.ศ.2568 ผู้ชายไทยอายุ 18 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ยให้ได้มาตรฐาน 177 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร ซึ่งขณะนี้ส่วนสูงเฉลี่ยของคนไทยเพศชายสูง 167.1 เซนติเมตร หญิง 157.4 เซนติเมตร