ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดูแลมาตรฐานความปลอดภัยอาหารที่วางจำหน่ายในพื้นที่และจัด 6 โครงการพัฒนาอาหาร โภชนาการในโรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อสร้างสุขภาพอนามัยแนะประชาชนยึดสูตรอาหาร 6:6:1 กินแล้วไม่ก่อโรค เผยผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร ในตลาดสด ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านอาหารในปีที่ผ่านมา รวมจำนวน 866,710 ตัวอย่าง พบตกเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 4

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 16 ตุลาคม ทุกปี องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันอาหารโลก ( World Food Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่างๆทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ทั้งเรื่องการผลิตที่ปลอดภัย คุณค่าของอาหารและโภชนาการ ให้สารอาหารที่มีผลให้ประชาชนมีสุขภาพดี เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรประมาณ 7000 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งอดอยาก ขาดแคลนอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทวีปแอฟริกา และเอเชีย

ในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในเรื่องโภชนาการ และอาหารปลอดภัย ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับกรมวิชาการต่างๆ เน้นการแก้ปัญหาโภชนาการตามกลุ่มประชากร และการสร้างความเข้มแข็งระบบการติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยและการบังคับใช้กฎหมายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด เนื่องจากปัญหาการกินอยู่ของประชาชนไทยขณะนี้ มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาภาวะโภชนาการเกินมากกว่าการขาดแคลน ผลการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ ประชาชนกลุ่มอายุ 6-12 ปี ในปี 2557 พบอ้วนและเริ่มอ้วนร้อยละ 9.5 และปัญหาการปนเปื้อนสารอันตาย เช่น สารกันบูด สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง เป็นต้น ก่อให้เกิดผลกระทบสุขภาพในระยะสั้น ภายในไม่กี่ชั่วโมง เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง ในปี2556 ป่วยรวมกัน1,262,449 ราย เสียชีวิต 13 ราย และปัญหาสารอันตรายตกค้างสะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุเสียชีวิตมากอันดับ 1ของประเทศ ปีละประมาณ 60,000 ราย

สถานการณ์ความปลอดภัยอาหาร ได้เก็บตัวอย่างอาหารดิบ ผักผลไม้ อาหารพร้อมบริโภค ที่จำหน่ายในตลาดค้าส่ง ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์มเก็ต ร้านอาหาร แผงลอย โรงอาหารในโรงเรียน โรงครัวของโรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก รวม 866,710 ตัวอย่าง พบตกเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย 36,563 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 4อาหารที่ไม่ผ่านมาตรฐานได้แก่น้ำดื่ม น้ำแข็ง น้ำมันทอดซ้ำ และอาหารปรุงสำเร็จโดยส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากภาชนะที่ใส่อาหารไม่สะอาด มือผู้สัมผัสอาหาร พ่อค้า-แม่ค้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามสุขอนามัยที่ดี เช่น ไม่ล้างมือ ไม่ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารจึงได้สั่งกำชับให้ทุกจังหวัดจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่อง สุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีในการปรุง-ประกอบอาหารเช่นการล้างมือที่ถูกวิธี การล้างผัก การบังคับใช้กฎหมาย และการบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยการบริหารจัดการด้านอาหารปลอดภัยได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารเป็นแหล่งพลังงาน เสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญต่อสติปัญญาและสุขภาพ ช่วยให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมอนามัยได้จัดโครงการพัฒนาด้านโภชนาการอาหาร 6 โครงการได้แก่

1.การจัดทำแนวทางบริหารจัดการพัฒนาอาหาร โภชนาการ และสุขอนามัยโรงเรียน เพื่อให้นักเรียน รวมทั้งที่ศูนย์เด็กเล็ก มีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย โดยให้โรงเรียนจัดบริการอาหารกลางวัน ซึ่งเป็น 1 มื้อหลัก และอาหารว่าง –นม เช้าหรือบ่าย

2.โครงการเด็กไทยสูงสมส่วน สมองดี แข็งแรง ส่งเสริมให้เด็กได้กินอาหารตามวัย เพื่อการเจริญเติบโต

3.โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพในเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เน้นให้มีอาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัยอย่างเพียงพอ

4.โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทางด้านอาหารและโภชนาการ ส่งเสริมการกินอาหารลดความหวาน มัน เค็มลง เพิ่มกินผักและผลไม้ตามฤดูกาล มีเมนูท้องถิ่นชูสุขภาพ

5.โครงการลดหวานมันเค็ม กินให้ได้ตามสูตร 6:6:1คือกินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

6.การให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบประกอบอาหารที่ปลอดสารอันตราย เน้นการสร้างความฉลาดในการซื้อ ปรุง และกิน โดยบริโภคข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย หุงข้าวผสมธัญพืช เช่นข้าวโพด เผือก ถั่ว มัน เพิ่มวิตามิน กินอยู่ท้อง และได้เส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่ายดีขึ้น เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนัง ติดมัน หากซื้อไก่ควรซื้อทั้งกระดูก เพื่อเลาะเนื้อมาทำกับข้าว และใช้กระดูกต้มเป็นน้ำซุปได้ หากเป็นไปได้ควรปรุงอาหารกินเอง ซึ่งจะสามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณอาหารได้ ใช้เครื่องปรุงรสแต่น้อย เท่าที่จำเป็น อย่าทำอาหารหลายอย่างแล้วเหลือไว้กินทีหลัง จะทำให้เสียคุณค่าทางโภชนาการและความอร่อยด้วย นอกจากนี้ยังสนับสนุน ส่งเสริมให้ร้านอาหารและแผงลอยทั่วประเทศ พัฒนา ปรับปรุงการจำหน่ายอาหารให้ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ตามโครงการ “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste)

ที่สำคัญควรเลือกกินอาหารแบบไทยๆ เช่นกินข้าวกับน้ำพริกผักสด ปลาทูทอด แกงเลียง แกงส้ม ซึ่งดีกว่าอาหารพวกฟาสต์ฟูดส์ เช่นไก่ทอด มันฝรั่งทอด พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เนื่องจากให้พลังงานสูง เมื่อกินเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้และควรเลือกกินอาหารจากร้านอาหารและแผงลอย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความสะอาดจากหน่วยงานราชการ